xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ตอ.จี้ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ล็อตเดียวกันทั้งหมดหวั่นเกิดเหตุซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระยอง- เครือข่าย ปชช.ภาคตะวันออกเรียกร้อง ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ในแหลมฉบังทั้งหมดหวั่นเกิดเหตุซ้ำซาก

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีสารเคมีโซเดียม เปอร์ซัลเฟต หรือสารฟอกขาว เกิดรั่วไหลจากตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเกิดอาการหายใจไม่ออกถูกนำส่งโรงพยาบาลจำนวนหลายราย ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552

นายสุทธิ กล่าวว่า วานนี้ (26 พ.ย.) ได้ลงพื้นที่ร่วมกับเลขานุการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในที่เกิดเหตุมีความผิดพลาดหลายจุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯต้องเข้าตรวจสอบย้อนหลังเพื่อรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ว่าการท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำตามรายงานตามเงื่อนไขในการขออนุญาต การเก็บสินค้าวัตถุอันตรายหรือไม่ โดยกรมควบคุมมลพิจะต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ โดยเฉพาะตู้คอนเทนเนอร์ที่มาล็อตเดียวกับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีปัญหา เนื่องจากยังไม่มีการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่เหลือแต่อย่างใด จึงมีความกังวลว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่มาพร้อมกันอาจจะเกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้นมาได้อีก

ทั้งนี้ ยังมีความวิตกเรื่องน้ำ เพราะขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ต้องใช้น้ำกรดเคมีในการควบคุมการฟุ้งกระจายสารเคมี ทำให้มีน้ำไหลลงทะเลจำนวนมาก จึงควรมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนตามมาภายหลังด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำตู้คอนเนอร์ที่เกิดเหตุเข้ามา และในวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2552 นี้ จะนำผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีฟอกขาวเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มีการตรวจสอบร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอและหน่วยงานภาครัฐอย่างละเอียดด้วย

ท่าเรือต้องมีการตรวจสอบท่าเรือทั่วประเทศ เช่น ท่าเรือมาบตาพุดและท่าเทียบเรือไออาร์พีซี ที่มีการขนถ่ายสารเคมีอันตราย และมีการเก็บคลังสินค้าสารเคมีอันตราย จนต้องมีคณะกรรมการจากหลายฝ่ายเข้ามาดูแล ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีการปฏิรูปท่าเทียบเรือใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า หากการตรวจสอบยังพบว่าท่าเทียบเรือแห่งใดมีความเสี่ยง ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงและฟื้นฟูให้ถูกต้อง และรัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานเข้ามาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีสารเคมีรั่วไหล พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำหลักประกันความเสี่ยง ให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณรอบจุดที่มีความเสี่ยง รวมถึงตั้งศูนย์ประสานงานในพื้นที่เสี่ยงภัย

ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาในอดีตพื้นที่แหลมฉบังเกิดเหตุไฟไหม้คลังน้ำมันไทยออยล์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงควรมีการตรวจสอบระบบการทำงานของการท่าเรือทั่วประเทศ ซึ่งมีการเข้าใจกันว่า ในท่าเทียบเรือแต่ละแห่ง มีการดำเนินการธุรกิจที่ผิดกฎหมายแอบแฝงอยู่ เนื่องจากมีการห้ามประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ให้เข้าไปภายใน

นายสุทธิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่จะต้องทำให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 นั้น เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนท่าเรือแหลมฉบัง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 นั้นมีความสำคัญจริง เป็นเหตุผลที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ต้องผลักดันกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 จะเป็นมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สารโซเดียมเปอร์ซัลเฟต หรือสารฟอกขาวที่รั่วไหล ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใช่สารโซเดียมเปอร์ซัลเฟตชนิดเดียวหรือไม่ หรืออาจจะมีสารเคมีชนิดอื่นด้วย ขณะนี้กำลังรอกรมควบคุมมลพิษเข้าไปตรวจสอบความชัดเจน รวมทั้งเข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์อื่นๆ ทั้งหมด

ส่วน นางสุนีย์ พู่เพ็ชร อายุ 53 ปี ผู้เสียชีวิตนั้น ทราบว่าไม่มีโรคประจำตัวและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยระหว่างเกิดเหตุมีการอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ในช่วงกลางคืน ซึ่งผู้เสียชีวิตก็ได้อพยพออกนอกพื้นที่ไปด้วย แต่พอรุ่งเช้าก็กลับมาที่บ้าน เพราะได้รับคำยืนยันจากท่าเรือว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว แต่ในขณะที่ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์นั้น ผู้เสียชีวิตก็เกิดอาการชักเป็นลมและหมดสติไปต่อหน้ารัฐมนตรีก่อนจะไปเสียชีวิตในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น