xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อสารพิษแหลมฉบังดับ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา – พนักงานท่าเรือ ชาวบ้าน เด็กนักเรียนล้มระนาวหลังสูดสารพิษรั่วไหลในท่าเรือแหลมฉบัง พบเสียชีวิตแล้ว 1 เป็นหญิงวัย 65 ปี ยังนอน รพ.อีกหลายราย ขณะที่เหยื่อดับอีกราย ผอ.การท่าเรือแหลมฉบังยืนยันไม่เกี่ยวกับสารเคมี "สุทธิ" จี้นายกฯเร่งแก้ปัญหาด่วน ขณะที่ชาวบ้านสวดยับการท่าเรือห่วย ปกปิดข้อมูล “เกื้อกูล” คาดสรุปสาเหตุได้วันนี้ ขณะที่จังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว ผู้ว่าฯชลบุรีลั่นคุมคดีเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ชลบุรี วานนี้ (26 พ.ย.) ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสารเคมีที่รั่วไหลจากตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณท่าเทียบเรือ B3 ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้แล้วเมื่อค่ำวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ปรากฎว่า สารเคมีดังกล่าวได้เกิดปะทุฟุ้งกระจายขึ้นมาอีกรอบเมื่อช่วงกลางดึกของคืนที่ผ่านมา (25 พ.ย.) ได้ส่งผลให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมีอาการหน้ามืดเป็นลม หายใจไม่สะดวกอย่างแรง ทางท่าเรือแหลมฉบัง จึงให้มีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ร่วม 100 หลังคาเรือนไปพักชั่วคราวอยู่ที่อาคารโรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 2 และโรงพยาบาลอ่าวอุดม อ.ศรีราชา พร้อมกับระดมแพทย์ พยาบาล มาตั้งศูนย์ให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสูดสารเคมีเข้าไป

กระทั่งเวลา 02.30 น.ของวานนี้ (26 พ.ย.) ทางท่าเรือแหลมฉบังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่า สามารถควบคุมสถานการณ์การรั่วไหลของสารเคมีให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้แล้วอีกครั้ง

**หาม พนง.ส่งรพ.นับร้อย-ตายแล้ว1

ในช่วงเวลาเดียวกัน "ASTV ผู้จัดการรายวัน" ได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ อ.ศรีราชาว่า หลังจากพบสารเคมีรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือB3 พนักงานท่าเรือแหลมฉบังและการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ได้สูดดมสารพิษเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่เมื่อช่วงที่เกิดการรั่วไหล ส่งผลให้มีพนักงานกว่า 100 รายเกิดอาการแพ้ จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลกลางดึก

เจ้าหน้าที่การนิคมฯรายหนึ่ง เผยว่า การปฎิบัติของทางท่าเรือฯทำไม่ถูกเนื่องจากไม่ยอมแจ้งว่าสารเคมีที่รั่วไหลและสารเคมีตัวดังกล่าวเป็นสารอะไรกันแน่ มีฤทธิ์อย่างไร พร้อมทั้งจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อร่างกาย โดยทางท่าเรือแจ้งเพียงแต่ว่าเป็นสารฟองขาวไม่มีอันตรายแต่อย่างไร

แต่ปรากฏว่าพอตกกลางดึกพนักงานท่าเรือและการนิคมฯต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลนับร้อย พร้อมทั้งได้เรียกเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องออกปฏิบัติงาน โดยให้มีการอพยพพนักงานออกนอกพื้นที่กลางดึกเป็นการด่วน เนื่องจากยังไม่สมารถควบคุมสถานการณ์ได้และสารเคมียังฟุ้งกระจาย ส่งกลิ่นเหม็นตลอดเวลา ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 3 กิโลเมตร

กระทั่งเวลา 03.30 น.ของวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมอีกว่า พนักงานท่าเรือ B3 ได้เสียชีวิตไปแล้ว 1 รายที่โรงพยาบาลแหลมฉบัง อินเตอร์ เนื่องจากได้รับสารเคมีเข้าไป

**ระบุผู้เสียชีวิตมาจากโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตาม ทางท่าเรือแหลมฉบังได้พยายามออกมาชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ผู้ที่เสียชีวิตดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่งในย่านบ้านทุ่งกราด ห่างจากที่เกิดเหตุกว่า 6 กิโลเมตร การเสียชีวิตคาดว่าเกิดจากอาการป่วยด้วยโรคลมชัก ซึ่งเป็นโรคประจำตัว จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการสูดดมสารเคมีเข้าไป

**"ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง"ยันไม่มีตาย

นายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผอ.การท่าเรือแหลมฉบัง ให้สัมภาษณ์ในช่วงเช้าถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า พนักงานและชาวบ้านที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลมีประมาณ 10 ราย แต่ขณะนี้สามารถกลับบ้านได้แล้ว 2 ราย ส่วนที่เหลือก็ทยอยออกจากโรงพยาบาล

ส่วนการอพยพชาวบ้าน 200 ครอบครัวออกจากหมู่บ้านแหลมฉบังเก่า หมู่ 3 ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา (25 พ.ย.) เป็นการอพยพตามแผนการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเกรงว่ากระแสสมจะพัดพากลิ่นสารเคมีไปถึงชาวบ้าน

"ขณะนี้สถานการณ์ทุกอย่างเป็นปกติแล้ว และพนักงานแหลมฉบังก็สามารถเข้าไปทำงานได้แล้ว ส่วนที่มีข่าวผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่แหลมฉบังนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สารพิษรั่วไหล" นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

ส่วนสาเหตุของการรั่วไหลของสารพิษนั้น ผอ.การท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จากนั้นจะแถลงข่าวให้ทราบต่อไป ส่วนการดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมี เป็นหน้าที่ของบริษัทที่เป็นเจ้าของสารเคมี ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นของบริษัทใด

**หามเด็กนักเรียนกว่า10คนเข้า รพ.อีก

เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หลังมีการเปิดให้พนักงานเข้าทำงานตามปกติ แต่ก็ยังพบว่ายังคงมีกลิ่นเหม็นของสารเคมีอยู่ ซึ่งมีพนักงานบางส่วนยังไม่กล้าเข้ามาทำงาน เนื่องจากยังกลัวว่าจะเกิดอันตราย จนกระทั่งมีความมั่นใจว่าปลอดภัยแล้วจึงได้เดินทางเข้ามาทำงานตามปกติ

ในเวลาประมาณ 09.30 น. "ASTV ผู้จัดการรายวัน" ได้รับแจ้งว่า ที่บริเวณท่าเรือฯยังคงมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงอยู่ โดยนายศุภชัย ตันติฤทธิพร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาพฤติกรรมโรงเรียนวิศวกรรมแหลมฉบัง ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เผยว่า หลังทราบข่าวว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสารเคมีที่รั่วไหลและสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงไม่มีการสั่งปิดโรงเรียน โดยมีเด็กนักเรียนมาเรียนตามปกติ

"แต่พอเปิดเรียนได้สักพักก็ได้รับกลิ่นเหม็นจากสารพิษดังกล่าว จนทำให้เด็กนักเรียนถึงกับเป็นลมล้มลงทันที และบางคนมีอาการเจ็บคอ และมีผื่นขึ้นตามตัว จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลกว่า 10 คน และได้สั่งปิดการเรียนการสอนให้เด็กนักเรียนกลับบ้านทันที"

**"สุทธิ"จี้นายกฯเร่งแก้ปัญหาด่วน

ด้านนายสุทธิ อัฌชาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เหตุสารพิษรั่วไหลที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้นในเบื้องต้นทราบว่าเป็นสารโบรมีน ซึ่งจัดว่าเป็นสารอันตรายตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ชนิดที่ 1 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ชนิดที่ 3

สารชนิดนี้ส่วนมากใช้เป็นสารหน่วงการติดไฟในพลาสติกและใช้เป็นสารฆ่าเชื้อโรค มีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นฉุน หากสัมผัสโดยการหายใจเอาไอของสารนี้เข้าไปจะมีฤทธิ์กัดเนื้อเยื่อในร่างกายทั้งหมด ทำให้เกิดแผลไหม้อย่างรุนแรง การหายใจเข้าไปในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงและทำลายระบบทางเดินหายใจ โดยหากสัมผัสสะสมเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการที่ซับซ้อนได้ในภายหลัง

นายสุทธิ กล่าวว่า ชาวแหลมฉบังรู้สึกหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากหลังเกิดเหตุทางท่าเรือแหลมฉบังไม่มีการแจ้งหรือประกาศให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันตัวเอง แต่พอเกิดความรุนแรงมากขึ้นจนต้องหามส่งโรงพยาบาล ถึงมีการประกาศเสียงตามสายของทางเทศบาลในช่วงกลางดึกให้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่

"เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้ประสานงานไปยังนายกรัฐมนตรี โดยผ่านนายศิริโชค โสภา ผู้ช่วยส่วนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องด่วนแล้ว โดยขอให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาดำเนินการหาสาเหตุของการเกิดปัญหา เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือชาวแหลมฉบัง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้"

นายสุทธิ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือถึงที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้ประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการต่อผู้ที่กระทำผิดและหามาตรการป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจะเกิดขึ้นอีก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชาวบ้านแบบซ้ำซาก พร้อมทั้งขอให้มีการจำกัดสารเคมีดังกล่าวอย่างงเร่งด่วน

**อัดยับการท่าเรือห่วย-ปกปิดข้อมูล

นายประสาน เจี๊ยะหลิม ชาวบ้านแหลมฉบังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การท่าเรือแหลมฉบังปกปิดข้อมูลและไม่แจ้งให้ชาวบ้านทราบเลยว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นโดยปล่อยให้ชาวบ้านสูดดมสารพิษจนเจ็บป่วยและไม่สบายเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าทางการท่าเรือไม่ดูแลรับผิดชอบเท่าที่ควร โดยเห็นประชาชนเหมือนผักเหมือนปลา ซึ่งจะเป็นอะไรก็ช่างมัน

ที่สำคัญเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งแต่ช่วงประมาณ 15.00 น.เมื่อวานนี้(25 พ.ย.) แต่ทางการท่าเรือได้แจ้งให้ประชาชนอพยพหรือออกนอกพื้นที่ในช่วงตี 1 ของวันใหม่ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะสารเคมีเกิดการรั่วไหลเพิ่มมากขึ้น แล้วเรื่องนี้ชาวบ้านจะไปไว้วางใจการท่าเรือฯได้อย่างไรต่อไป

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครี้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเรื่องของสภาพสิ่งแวด และสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทางสำนักงานคงต้องกลับไปดูรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของท่าเรือ B3 ว่าเป็นอย่างไร มีการปฏิบัติตามรายงานผลกระทบตามที่ส่งมาหรือไม่ โดยหลังจากนี้จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่อีกครั้ง

**"มานิต”ลงแหลมฉบัง-เหยื่อสารเคมีดับ 1

บ่ายวันเดียวกันนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่นอนรักษาที่ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา พร้อมเปิดเผยว่า “จากเหตุการณ์ครั้งนี้สรุปมีผู้สูดสารพิษเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆหลายราย ซึ่งขณะนี้ทุกรายอาการปลอดภัยแล้ว”

ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ สสจ.ชลบุรี เผยว่า ขณะนี้พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ชื่อนางสุนีย์ ภู่เพชร อายุ 65 ปี ซึ่งระหว่างการอพยพหนีจากสารเคมีนั้นได้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัด และขณะนำส่งโรงพยาบาลอ่าวอุดม มีอาการหายใจติดขัดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ช็อกหมดสติ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบชันสูตรพลิกศพถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง

**ชลบุรีประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ

ด้านนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่แหลมฉบังที่มีสารเคมีรั่วไหลเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ โดยจะมีผลคือ 1.ทางจังหวัดสามารถดำเนินการใดๆ ได้เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย 2.ประชาชนจะได้รับการดูแล รักษา หรือเสียชีวิต โดยอย่างเต็มที่ และ 3.ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสั่งการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามคำสั่ง ได้ทันท่วงที

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะรูปคดีตนจะลงมาควบคุมดูแลด้วยตนเองว่ามาจากสาเหตุใด โดยหากเกิดจากความผิดพลาดของทางบริษัท ก็จะดำเนินการ ส่วนหากเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่การท่าเรือแหลมฉบัง ว่าใครเป็นผู้บกพร่อง และต้องดำเนินคดีตามกฎหมายของการท่าเรือ

**“เกื้อกูล”สั่งคุมเข้มพื้นที่แหลมฉบัง

ด้านนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งคุมเข้มความปลอดภัยเขตท่าเรือแหลมฉบังและบรรเทาทุกข์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ส่วนสาเหตุการเกิดเหตุนั้นอยู่ระหว่างการสอบสวนคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันนี้ (27 พ.ย.) ซึ่งจุดเกิดเหตุอยู่ภายในบริเวณท่าเทียบเรือ B3 ซึ่งบริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตามระเบียบสารเคมีจะต้องขนออกจากเขตท่าเรือภายใน 24 ชั่วโมงจากที่นำเข้ามา

สำหรับมาตรการเร่งด่วน คือ 1.ประกาศเตือนภัยให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียงและหากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารพิษก็ให้รีบไปที่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการด่วน 2.ประสานโรงพยาบาลเตรียมรับมือในกรณีฉุกเฉิน 3.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเรียกบริษัทที่ขนสินค้านี้เข้ามาชี้แจง 4 .ตรวจสอบความปลอดภัยทางน้ำและตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำทะเลโดยให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ประสานความร่วมมือไปยังกรมควบคุมมลพิษในการจัดการสารอันตรายประเภทนี้

**กรมควบคุมฯยันคุมสถานการณ์ได้แล้ว

ทางด้านนายสุเมธา วิเชียรเพชร ผอ.ส่วนปฏิบัติการฉุกเฉินและฟื้นฟู กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สารดังกล่าวคือสารโซเดียมเปอร์ซัลเฟต ลักษณะเป็นผง เป็นส่วนผสมของสารฟอกย้อมนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนสาเหตุการรั่วไหลน่าจะเกิดจากการถุงบรรจุแตกและผงของสารตกลงไปบนพื้นประกอบกับพื้นตู้คอนเทนเนอร์เป็นไม้และสารนี้จะทำปฏิกิริยากับความชื้นสูงมากจะกลายเป็นกรด เมื่อโดนไม้ที่มีความชื้นสูง จึงเกิดการลุกไหม้ทำให้ถุงพลาสติกติดเชื้อเพลิงต่อและลุกลามไปเรื่อยๆ การดับทำได้ยาก เพราะโดนน้ำไม่ได้และมีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า

"แต่ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษสามารถแก้ปัญหาก๊าซพิษที่รั่วไหลได้แล้ว โดยการตรวจปริมาณก๊าซพิษล่าสุดพบว่ามีค่าพีพีเอ็มเท่ากับ 0 และยืนยันว่าจะไม่มีการปะทุของสารพิษขึ้นมาอีก"

**ส.ส.ระยองจี้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบ

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีสารเคมีรั่วที่แหลมฉบังว่า ตนขอเรียกร้อง 3 ประการคือ 1.ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น 2. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกับประชาชน เนื่องจากจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแถลงข่าวถึงรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น และ 3.เมื่อมีการสรุปสาเหตุออกมาแล้วว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น บริษัท ก. เป็นผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่ได้รับความเสียหายจำนวนมากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องมาเยียวยา จ่ายค่าเสียหาย และถูกดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจในภาคอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น