ศูนย์ข่าวศรีราชา-จังหวัดชลบุรี วางแผนระบบลอจิสติกส์อย่างเป็นระบบ เพื่อเชื่อมโยงกับโครงข่ายในพื้นที่ หวังให้การเดินทางการสัญจรและระบบการขนส่งสินค้าสะดวกและรวดเร็ว
วันนี้ (13 พ.ย. 2552 ) ที่อาคารศูนย์ฝึกอบรม บริษัทไทยออยล์ จำกัด มหาชน จังหวัดชลบุรี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธาน สัมมนาครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและพัฒนาการจัดระบบโครงข่ายทางเพื่อสนับสนุนศาสตร์การขนส่งสินค้า ( Logistics ) ในจังหวัดชลบุรี โดยมีหน่วยงานราชการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
นายเสนีย์ กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถือว่าเป็นประตูการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของประเทศ และบทบาทหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เปรียบเสมือนเมืองท่าสนับสนุนการดำเนินงานของประตูการค้าให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น จังหวัดชลบุรี ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่สร้างรายได้สำคัญของประเทศอีกทางหนึ่งน้อย ดังนั้น การพัฒนาจังหวัดชลบุรีจึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งในส่วนที่สนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการนำเข้าและส่งออก แต่ต้องคำนึงถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเหล่านั้นไว้
นายเสนีย์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาการจัดการระบบโครงข่ายสายทางเพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าที่จะมีมากขึ้นในอนาคต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าและลอจิสติกส์ จึงจัดให้มีการศึกษาเพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมทางถนนและระบบอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางของประชาชนในจังหวัดชลบุรี
ขณะนี้ได้ว่าจ้างให้สถาบันการศึกษา ดำเนินการศึกษาและวางแผนงาน เพื่อสามารถนำผลงานศึกษาไปใช้ในการดำเนินการควบคู่กับแผนงานการพัฒนาด้านเครือข่ายการจราจรของในแต่ละพื้นที่ของในจังหวัดชลบุรี ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นายเสนีย์ กล่าวต่อไปว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ ( Logistics) ในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงพื้นที่จังหวัดชลบุรีเท่านั้น โดยจะเชื่อมระบบเครือข่ายถึง 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เนื่องจากอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์เดียวกัน ที่ต้องร่วมวางแผนและพัฒนาดังกล่าวควบคู่กันไปทั้ง 4 จังหวัด เพื่อเกิดประสิทธิภาพร่วมกัน
ในอนาคต ควรจะต้องมีการสร้างศูนย์ประสานงาน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง โดยนำแผนงานที่วางไว้ มาจัดทำเป็นแผนงานท้องถิ่น เพื่อให้ระบบการจราจร มีประสิทธิภาพ เพราะปัญหาการจราจร ส่งผลกระทบต่อเวลาในการเดินทาง , สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและงบประมาณ และอาจจะเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็ได้
ด้าน รศดร.สุพจน์ เตชะวรสินกุล ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การศึกษาโครงการนี้ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าสมบูรณ์แบบในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อมูลเสนอแนะจากหน่วยงานในพื้นที่หรือประชาชนในพื้นที่ ก็จะนำข้อมูลเสนอแนะไปประกอบในการพิจารณารูปแบบเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นผลดีต่อพื้นที่ในอนาคตด้วย