ตรัง - ผู้ว่าฯ ตรังเรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และเตรียม 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศปลายเดือนนี้
วันนี้ (11พ.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) จังหวัดตรัง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดตรัง โดยเป็นการเตรียมประเด็นความต้องการในภาพรวม ที่จะเสนอต่อที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมเลอ เมอ ริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอการพัฒนาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศภายใต้แนวคิดหลักคือ เติมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งทางหอการค้าไทยได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) จังหวัดตรัง ได้ร่วมประชุมกำหนดประเด็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของจังหวัด ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมหอการค้าไทย โดยมีทั้งหมด 5 ประเด็นหลัก ตามระบบโครงการพื้นฐานในการรองรับการขยายการลงทุนและการท่องเที่ยว คือ
1.ปัญหาความเดือนร้อนที่เกิดจากรถไฟ อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหาด้านเวลาและปัญหาการบริการ โดยในที่ประชุมได้มอบให้นายสถานีรถไฟตรัง ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาทั้ง 4 ประเด็น เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งระบบรางของจังหวัดตรังให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น
2.การขอสนับสนุนขยายถนนเลี่ยงเมือง สาย 419 คือ ถนนบายพาสระหว่าง 4 แยก อตก. ถึงสามแยกนาขา ระยะทาง 4 กม.เป็นถนน 4 ช่องจราจร ซึ่งเสนอโดยภาคเอกชนในจังหวัดตรัง เนื่องจากพบว่าเส้นทางดังกล่าวใช้รองรับการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือกันตัง ซึ่งมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เส้นทางเป็นจำนวนมาก โดยแขวงการทางตรังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เบื้องต้นจะมีการเสนอแก้ปัญหา 2 แนวทางคือ การขอสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท แต่อาจจะต้องใช้เวลานานในการดำเนินการ ส่วนอีกแนวทาง คือ แขวงการทางจะต้องดำเนินการเอง โดยแยกการก่อสร้างเป็นโครงการขนาดเล็กและแบ่งเป็นตอนละ 1 กม. ซึ่งอยู่ในอำนาจการอนุมัติของส่วนภูมิภาคที่สามารถจะทำได้เอง
3.เป็นส่วนความคืบหน้าของการขยายถนนเส้นทางสำคัญ ในความรับผิดชอบของแขวงการทางตรังที่มีทั้งหมด 7 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางระหว่างอำเภอย่านตาขาว ถึงตำบลบ้านนา อำเภอปะเหลียน เส้นทางจากเทศบาลตำบลคลองเต็ง อำเภอเมืองตรัง ถึงตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด เส้นทางระหว่างสี่แยกอันดามัน อำเภอห้วยยอด ถึงสี่แยกควนกุน อำเภอสิเกา เส้นทางจากตำบลบ้านนา ถึงตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน เส้นทางตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว ถึงบ้านป่าเตียว ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง เส้นทางปากเมง อำเภอสิเกา ซึ่งจะทำการก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจร ในเขตย่านชุมชนที่จำเป็นไปก่อน และเส้นทางสุดท้าย คือ ถนนเขาพับผ้า ระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางทั้งหมดถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะรองรับระบบลอจิสติกส์ของจังหวัดตรังในอนาคต
4.เป็นการพัฒนาท่าเรือจังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันมีท่าเรือที่เป็นของรัฐและท่าเรือเอกชน รองรับการขนส่งสินค้าในระดับหนึ่ง โดยจำเป็นต้องพัฒนาให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น
5.ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้เสนอเรื่องการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยขยายรันเวย์ให้สามารถรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ เพื่อรองรับด้านการท่องเที่ยวที่จะผลักดันให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งจะนำเข้าที่ประชุมหอการค้าไทย เพื่อเสนอเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และอีกส่วนหนึ่งจะดำเนินการเร่งรัดให้ทุกประเด็นเกิดผลสำเร็จที่สมบูรณ์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาในระดับจังหวัดตรังต่อไป