ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแชมป์เบี้ยวหนี้กองทุนเงินกู้ยืมการศึกษาสูงสุดในประเทศ รวม 6,000 ราย มูลหนี้กว่า 500 ล้าน ล่าสุด กยศ.ลงพื้นที่เปิดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมก่อนฟ้องดำเนินคดี ตั้งเป้าทวงหนี้คืนได้กว่า 30% เปิดโอกาสให้ถึง มี.ค.ปีหน้า เตือนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพออกตระเวนหลอกว่าช่วยไกล่เกลี่ยกับ กยศ.ให้ได้ ย้ำพบเมื่อไหร่ให้แจ้ง กยศ.เพื่อดำเนินคดีทันที
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ห้องสันทนาการ ศาลจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธนิต สุธีรพรหม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาก่อนคดีฟ้องร้อง ประจำปี 2553 โดยศาลแขวงนครราชสีมา ศาลจังหวัดนครราชสีมา และ สำนักระงับข้อพิพาท ร่วมมือกับ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดโครงการดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสผู้กู้ค้างชำระหนี้ กยศ.ที่จะถูกดำเนินคดีเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างเดือน พ.ย.2552 - มี.ค.2553 ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ลดปริมาณคดีสู่ศาล และลดค่าใช้จ่ายติดตามหนี้
สำหรับ จ.นครราชสีมา กำหนดจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 28 -31 ต.ค.นี้ โดยผู้ที่เคยกู้ยืมเงิน กยศ. และขาดการชำระมานานกว่า 5 ปี เดินทางมาติดต่อเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า สถิติผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ในพื้นที่ภาคอีสาน และไม่ติดต่อชำระหนี้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไ ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยนั้นในปีนี้มี จำนวน 59,000 ราย รวมมูลหนี้ทั้งสิ้น 7,000-8,000 พันล้านบาท สำหรับ จ.นครราชสีมา มีผู้ที่ค้างชำระเงินกับ กยศ.ทั้งสิ้น 6,000 ราย รวมมูลหนี้กว่า 500 ล้านบาท ถือเป็นจังหวัดที่มีสถิติผู้กู้เงินยืมเงินจาก กยศ.ที่ค้างชำระมากที่สุดในประเทศและมากที่สุดในภาคอีสาน
สำหรับการเปิดโครงการไกล่เกลี่ย วันนี้ ที่ จ.นครราชสีมา กยศ.ได้มีหนังสือแจ้งให้ทุกคนที่เป็นลูกหนี้มาติดต่อ เพื่อเจรจากันใหม่และทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อนำเงินที่กู้ไปมาชำระคืนกองทุน เพราะเงินที่กู้ไปเป็นเงินจากภาษีประชาชนและเป็นของรัฐ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวที่รับชำระหนี้กลับมาก็จะนำไปให้น้องรุ่นใหม่ได้กู้เรียนต่อไป
โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาติดต่อขอไกล่เกลี่ยไม่ต่ำกว่า 30% ของจำนวนผู้ค้างชำระทั้งหมด โดย กยศ.จะตระเวนเปิดโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งผู้ค้างชำระสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ทุกที่ เพราะข้อมูลอยู่ในระบบออนไลน์ เข้าถึงกันได้ทั้งหมด
ส่วนปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้กู้ไม่ยอมนำเงินมาจ่ายชำระหนี้ตามกำหนดระยะเวลาได้นั้น มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ เรียนจบแล้วยังไม่มีงานทำ จึงยังไม่มีรายได้ หรือ งานที่ทำรายได้ต่ำเกินไปไม่มีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้คืนกองทุนได้
“การเจรจาไกล่เกลี่ยดังกล่าวนี้ เป็นการพบปะพูดคุยตกลงกันไม่ใช่การฟ้องร้องแต่อย่างใด เพื่อที่จะทำข้อตกลงกันใหม่ ฉะนั้น ผู้ที่เข้าร่วมโครงการขอให้ทุกคนสบายใจได้ว่า ผู้กู้ทุกคนมีแต่ได้โดยเราจะได้พบปะกับทั้งทางธนาคารกรุงไทย และผู้ประนอมของศาลมาช่วยให้ได้รับความยุติธรรมในการส่งคืนเงิน และจะไม่มีการเอาเปรียบใดๆ ทั้งสิ้น” นายธาดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพออกไปหลอกลวงผู้กู้ยืมเงินว่าจะช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยกับ กยศ.ให้ โดยเรียกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้กู้นั้น ขอฝากไปยังผู้กู้ว่าอย่าหลงเชื่อเป็นเด็ดขาดเพราะทางกองทุนฯไม่มีนโยบายส่งเจ้าหน้าที่ออกไปรับชำระหนี้หรือไกล่เกลี่ยกับผู้กู้เอง ฉะนั้นหากต้องการเข้าร่วมโครงการ ให้ติดต่อกองทุนกู้ยืมฯ หรือติดต่อทางธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาโดยตรง
ส่วนผู้ที่แอบอ้างจะช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้ได้นั้น ขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทำให้ผู้ที่เดือดร้อนอยู่ แล้วเดือดร้อนมากขึ้นอีก หากใครพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวให้แจ้งมายัง กยศ.ทันที เพื่อจับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป