ศาลยุติธรรมจับมือ กยศ.จัดโครงการไกล่เกลี่ยเงินกู้เพื่อการศึกษา ประจำปี 2553 เน้นเจรจาผ่อนหนี้ สร้างความสมานฉันท์และลดคดีขึ้นสู่ศาล
วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วย น.ส.จิตตรา กาญธนะประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา และนายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และผู้บริหารกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และโครงการภาครัฐ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีประจำปี 2553
โดย นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า โครงการไกล่เกลี่ยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.52 - 6 มี.ค.53 ทั่วทุกภาค และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 36 จังหวัด เหตุที่ต้องจัดโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ซึ่งจนจบการศึกษาและเข้าทำงานแล้วขาดการติดต่อกับกองทุนนาน 5 ปี จนถูกกองทุนเลิกสัญญาและจะถูกฟ้องคดี จำนวน 148,613 ราย โดยในปี 2553 จะมีผู้กู้ยืม ซึ่งจะถูกฟ้องอีก 161,793 ราย ทำให้เกิดปัญหาว่าจะมีปริมาณคดีเข้าสู่ศาลจำนวนมากและผู้กู้ยืมที่จะถูกฟ้องก็จะกลายเป็นผู้มีชนักติดหลัง ซึ่งการกลัวว่าจะถูกฟ้องจะทำให้ไม่มีกำลังใจทำงาน
ศาลยุติธรรม โดยสำนักงานระงับข้อพิพาทจึงได้ร่วมมือกับ กยศ.เพื่อหาแนวทางในการยุติข้อพิพาทด้วยความสมานฉันท์ ซึ่งจากการดำเนินโครงการไกล่เกลี่ยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันในหลายจังหวัดทุกภูมิภาค ผลปรากฏว่าสามารถตกลงยุติข้อพิพาทได้มากกว่า ร้อยละ 90 สร้างความพึงพอใจให้กับทุกๆ ฝ่ายเป็นอย่างดี
“โครงการไกล่เกลี่ยผู้กู้ค้างชำระในศาล 36 จังหวัด เพื่อเรียกผู้กู้มาเจรจาสร้างความเข้าใจว่ากู้แล้วต้องคืนเงิน เพราะจะได้เอาเงินไปให้คนรุ่นหลังได้กู้ไปเรียนบ้าง โดยเมื่อมาไกล่เกลี่ยแล้วเขาก็จะได้กลับไปทำงาน ส่วนกองทุนก็อยู่ได้ เรื่องนี้นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ก็มีนโยบายให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะหากไกล่เกลี่ยได้จะลดปริมาณคดีในศาล” นายวิรัชกล่าว และว่าเมื่อใครได้รับหมายเรียกก็ให้ไปเข้าไกล่เกลี่ยที่ศาลใกล้บ้านใน 36 จังหวัดทันที โดยจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนคนที่ไม่มาติดต่อนั้นอาจต้องมีมาตรการบังคับคดี เอาจากเงินเดือนของผู้กู้ต่อไปก็ได้
ด้าน นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุน กยศ.กล่าวว่า การจัดไกล่เกลี่ยก่อนการฟ้องคดีครั้งนี้ เป็นปีที่ 6 แล้ว เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 งวดขึ้นไป ซึ่งกำลังจะถูกบอกเลิกสัญญาในปี 2553 รวมทั้งผู้ค้ำประกันก็จะไม่ต้องถูกฟ้องดำเนินคดี ขณะที่การเข้าไกล่เกลี่ยไม่เสียค่าธรรมเนียมจึงขอเชิญชวนให้ผู้กู้ยืม มาร่วมไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งการไกล่เกลี่ยนอกจากไม่ต้องถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วยังได้รับโอกาสผ่อนชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนดด้วย
นายธาดายังกล่าวถึงมูลค่าเงินค้างชำระด้วยว่า ในกลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 งวดขึ้นไป มีจำนวน 161,793 ราย มูลหนี้ค้างชำระจำนวน 15,824 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 58,788 ราย มีมูลหนี้ค้างชำระ 4,654 ล้านบาท ภาคเหนือ 27,784 ราย มีมูลหนี้ค้างชำระ 2,727 ล้านบาท ภาคกลาง 28,789 ราย มีมูลหนี้ค้างชำระ 3,378 ล้านบาท ภาคใต้ 27,358 ราย มีมูลหนี้ค้างชำระ 3,134 ล้านบาท ภาคตะวันตก 8,382 ราย มีมูลหนี้ค้างชำระ 872 ล้านบาท และภาคตะวันออก 10,638 ราย มีมูลหนี้ค้างชำระ 1,056 ล้านบาท ซึ่งหากจะต้องนำคดีดังกล่าวมายื่นฟ้องต่อศาล จะทำให้ กองทุนฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 1,040 ล้านบาท แต่ถ้าได้มีการไกล่เกลี่ยก่อนดำเนินคดี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินคดีไปได้มาก