xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่ศาลยุติธรรม "สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

มิติใหม่ศาลยุติธรรม
"สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม"


ที่ผ่านมาชาวบ้านร้านตลาดอาจรู้สึกเบื่อ และหน่าย หากต้องไปฟ้องร้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาล ด้วยเพราะความล่าช้าของกระบวนการโดยเฉพาะขั้นตอนทางธุรการที่ยุ่งยาก และปัญหาคดีล้นศาลจนทำให้การนัดความของแต่ละคดีบางทีต้องรอคิวกันเป็นปีกว่าจะเริ่มต้นพิจารณาได้

กับปัญหาดังกล่าว “สำนักงานศาลยุติธรรม” ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามขับเคลื่อนองค์กรเดินหน้าแก้ไข เพื่อสร้างภาพลักษ์ใหม่ที่ไม่ใช่แค่องค์กรผดุงความยุติธรรมเท่านั้น แต่ศาลจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในภาวะที่สังคมไทยกำลังสับสน และต้องการความสมานฉันท์ ภายใต้นโยบายของ “นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา” ที่ให้ไว้กับคณะตุลาการและข้าราชการศาลทุกคนว่า “ มุ่งสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมให้ประชาชน ที่จะเข้าสู่ความยุติธรรมโดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม”

“โครงการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท” ถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้เพื่อลดปัญหาคดีรกโรงรกศาล โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการระงับข้อพิพาทให้เป็นที่แพร่หลาย คดีไหนมีทางไกล่เกลี่ยกันได้ศาลจะเป็นตัวกลางให้คู่ความหาข้อยุติร่วมกันแบบสมานฉันท์ ได้ผลประโยชน์กันแบบ วิน วิน ทั้งสองฝ่าย

นายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาประจำสำนักประธานศาลฎีกา ระบุว่า ปี 2551 ที่ผ่านมามีคดีเข้าสู่โครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 158,939 คดี ไกล่เกลี่ยกันสำเร็จถึง 114,578 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์ 59,000 ล้านบาท คดีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จส่วนใหญ่เป็นคดีแพ่ง ทุนทรัพย์น้อย อาทิ คดีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา คดีมรดก และคดีหมิ่นประมาท ส่วนปัญหาที่ทำให้คู่ความมาไกล่เกลี่ยกันยากนั้น เนื่องจากคู่ความยังไม่แน่ใจว่าศาลจะช่วยเหลือได้ จึงมาตามนัดไกล่เกลี่ย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้คู่ความเห็นประโยชน์ของการประนอมข้อพิพาท

“ศาลแพ่งธนบุรี” เป็นอีกตัวอย่างที่สร้างมิติใหม่ โดยการจับมือกับศาลอาญาธนบุรี และศาลแขวงธนบุรี ที่อยู่ในรั้วเดียวกัน พัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนให้กับประชาชนมาใช้บริการศาล

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี กล่าวว่า ตามนโยบายสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มุ่งให้ประชาชน เข้าถึงความยุติธรรมโดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ศาลแพ่งธนบุรี จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศ มาควบคุมระบบงาน เพื่อให้คู่ความสามารถตรวจดูคำสั่งศาล , รายงานการส่งหมาย , คำสั่งคำคู่ความ รวมทั้งคำพิพากษา ด้วยคอมพิวเตอร์มือถือ หรือแค็บเบ็ตที่ศาลจัดไว้

ในส่วนการพิจารณาคดีศาลแพ่งธนบุรี ยังเพิ่มระบบยุติธรรมทางเลือก ที่ประชาชนสามารถเลือกวิธีการเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยโดยผู้ประนีประนอมที่ศาลจัดไว้ 30 คน หรือไกล่เกลี่ยโดยผู้พิพากษา ซึ่งศาลจัดห้องสำหรับการเจรจาไกล่เกลี่ยเพิ่มเป็น 5 ห้อง โดยกรณีนี้คู่ความต้องเดินทางมาศาลเพื่อเจรจา หรืออาจใช้ระบบสื่อสารทางไกล และอินเตอร์เน็ตในการไกล่เกลี่ยได้ โดยคู่ความไม่ต้องเดินทางมาศาล ทั้งนี้มีการวางเป้าหมายไกล่เกลี่ยคดีให้ได้ผลสำเร็จ ร้อยละ 90

นอกจากนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ยังโชว์ไอเดียบรรเจิดวางระบบงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในอนาคต โดยเตรียมจัดอบรมอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล ออกไปประจำตามสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร และชุมชนต่างๆ รวมทั้งสถานีตำรวจนครบาล ย่านฝั่งธนบุรี เพื่อช่วยเหลือลดข้อพิพาทคดีแพ่งทุกคดี และคดีอาญาที่ยอมความได้

“บริการสายด่วน ศาลยุติธรรม 1741” ถือเป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้เพื่อลดช่องว่างระหว่างศาลกับประชาชน โดยการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ยังสับสนกับขั้นตอนทางราชการสามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลคดีได้โดยไม่ต้องเดินทางมาศาลให้เสียเวลา

สายด่วนศาลยุติธรรม บรรจุข้อมูลตอบรับอัตโนมัติไว้ 13 เมนู ซึ่งศาลจัดเตรียมนิติกรไว้ตอบคำถามในเรื่องหลักๆ ที่ประชาชนสนใจ เช่นขั้นตอนและการเตรียมหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว ,การเตรียมตัวเป็นพยานในศาล รวมทั้งสิทธิในการฟ้องร้องคดี

ล่าสุด ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี และศาลแขวงพระนครเหนือ ได้ริเริ่มนำร่องโครงการใหม่ “รับชำระเงินค่าปรับ เงินประกันตัวในคดีอาญาผ่านทางบัตรเครดิต” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่ง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ได้เข้ามาทำข้อตกลงเป็นคู่สัญญากับศาลเป็นบริษัทแรก โดยโครงการดังกล่าวจะเพิ่มช่องทางในการหาเงินมาชำระค่าปรับ หรือประกันตัวให้กับประชาชน แทนที่จะต้องเดือดร้อนไปเช่าโฉนดที่ดิน หรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพมาใช้ประกันตัวกับศาล

ในช่วงนี้ ใครที่ต้องติดต่อราชการศาลคงพบกับความเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งด้านที่เด่นชัด คือการปรับภูมิทัศน์ภายในให้สวยหรู สบายตา และประชาสัมพันธ์ “สาวเสื้อฟ้า” ที่คอยให้คำปรึกษาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับขั้นตอนทางกฏหายให้แก่ประชาชน

วันนี้ชาวบ้านที่เดือดร้อนมาได้เจอสาวเสื้อฟ้า มาคอยบริการตอบคำถามคาใจคงทำให้คลายทุกข์ไปได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งการที่ศาลยุติธรรมจัดให้มี “โครงการสาวเสื้อฟ้า” นอกจากจะสามารถอำนวยความสะดวกกับประชาชนที่มาติดต่อธุรการศาล ยังเป็นการเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่แผงตัวเข้ามาใช้พื้นที่ศาลหลอกลวงประชาชนเพื่อหาผลประโยชน์

ดังที่กล่าวมาข้างต้น “ศาลยุติธรรม” จึงเป็นแบบอย่างของหน่วยงานที่มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยมีหัวใจสำคัญคือ ประชาชน จะต้องได้รับความยุติธรรม สะดวก และปลอดภัย เมื่ออยู่ในรั้วศาล เพราะ “ศาลคือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน”


นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา
เจ้าหน้าที่ศาลที่จะคอยแนะนำการเข้าสู่ระบบศาล ให้ประชาชนเข้าใจ

การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทตกลงร่วมกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น