พิษณุโลก- ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ เศรษฐกิจยังดีต่อเนื่องถึงไตรมาสสุดท้าย ระบุปี 53 ท้าทาย รับความเสี่ยงภาวะผันผวนของเงินทุนไหลเข้า ภาคเอกชนลุ้นความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้จะเชื่อว่าโครงการไทยเข้มแข็งช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่โรงแรมอัมรินทน์ลากูน จ.พิษณุโลก ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เดินทางมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจไทยปี 53” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 เรื่องการรับมือเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ยุคหลังวิกฤต ซึ่งสำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาขึ้น โดยมีนักธุรกิจร่วมรับฟังกว่า 500 คน
ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 40 ที่ผ่านมา วันนี้ ภาคธุรกิจเอกชนมีความเข้มแข็งขึ้น อัตราส่วนหนี้สินน้อยกว่าทรัพย์สิน หากเทียบกับปี 40 ที่มีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน 1-2 เท่า ส่วนรัฐบาลก็มีทุนสำรองสูงกว่าอดีตมาก ขณะที่สถาบันการเงินก็เข้มแข็ง ปัญหา NPL มีแค่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ ในอดีต
ผลจากการดำเนินงานในภาครัฐ ทำให้ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 แนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 ถือว่าเป็นสิ่งท้าท้าย เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่มีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลก ที่พบว่าอัตราว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามโครงการไทยเข้มแข็ง หรือไม่ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ต่อไป ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องดูภาคเอกชน ว่า รับช่วงต่อได้หรือไม่ ต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจครั้งนี้ เพราะรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทุกเวลา ทว่า ปัญหาใหม่ คือความไม่แน่นอนทางการเมือง กลับมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชน อย่างไรก็ตามสุดท้าย เชื่อมั่นว่า รัฐบาลสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจปีหน้า
ปี 2553 จึงเป็นปีที่ท้าทาย เพราะมีความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน สภาพคล่องจะสูงมาก แม้ว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยจะต่ำ การไหลเข้าของเงินทุนนั้น ธปท.ก็เตรียมรับมือ แต่หากไหลเข้าตลาดทุนมากในลักษณะผิดปกติ หรือปั่นหุ้น ก็จะมีหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดูแลอยู่
ขณะที่ปัญหาในระดับภูมิภาคนั้น เงินกู้นอกระบบที่ติดประกาศเชิญชวนตามเสาไฟฟ้า บ่งชี้ถึงสถาบันการเงินที่ยังเข้าไม่ถึง ถือว่าเป็นแผนงานต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทย กระตุ้นให้สถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินกู้ที่เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด