xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเทงบ“ไทยเข้มแข็ง”ดันศักยภาพแม่สอด/ปรับถนน 3 สายหลักดันเขตเศรษฐกิจชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- รัฐเทงบ “ไทยเข้มแข็ง”ลงชายแดนตาก รองรับเขตเศรษฐกิจชายแดน เมืองการค้าชายแดน-การท่องเที่ยว เผยเฉพาะทางหลวง ได้งบปรับปรุง 3 เส้นทางหลักเชื่อมตาก-แม่สอด, แม่สอด-แม่สะเรียง, แม่สอด-พบพระ ปีละกว่า 100 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)จังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตาก ได้รับงบประมาณไทยเข้มแข็งหลายโครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น(ภูมิภาค)และระดับชาติ โดยงบประมาณส่วนหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระบบเส้นทางคมนาคม

เช่น ถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อการขนส่งการค้า-การเกษตร-การท่องเที่ยว และการบริการประชาชน ฯลฯ เต็มรูปแบบ รวมไปถึงการป้องกันและลดอุบัติเหตุ และการรองรับเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East West Economic Corridor โดยจะมีการพัฒนาแบบต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลเห็นว่าจังหวัดตาก เป็นเมืองชายแดนที่มีศักยภาพการค้า-การลงทุนและระบบเศรษฐกิจ ที่ต้องส่งเสริมทั้งระบบอย่างเต็มรูปแบบ

นายจงจิตร เต็งยะ ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด) กล่าวว่า แขวงการทางตากที่ 2 แม่สอด ได้รับงบประมาณไทยเข้มแข็งเพื่อให้ดำเนินโครงการก่อสร้าง ถนนเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 105 ในเขต อ.แม่สอด จ.ตาก รวม 3 เส้นทาง เป็นโครงการก่อสร้างถนนลาดยางแอสฟัลท์และเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป

เบื้องต้นนี้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในส่วนของแขวงการทางตาก(2) กรมทางหลวงกระทรวงคมนาคม จะได้รับจำนวนกว่า 100 ล้านบาท (2553-2554) และจะต่อเนื่องไปทุกปีในโครงการถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด, แม่สอด-แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และแม่สอด-พบพระ(แหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตร อันดับต้นๆ ครัวไทยสู่ครัวโลกของประเทศไทย)

โดย ครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 อนุมัติงบประมาณจำนวนหลายพันล้าน โครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เช่น ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 , ศูนย์ One Stop Service และศูนย์โลจิสติกส์รวมทั้งคลังสินค้า (Logistics Park) ในพื้นที่บริเวณชายแดน อำเภอแม่สอด ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในการก่อสร้างและปรับปรุงถนน แม่สอด-แม่ระมาด-,แม่สอด – ไปชายแดนไทย-พม่า (ริมเมย-),และแม่สอด-พบพระ จึงเป็นโครงการรองรับการเป็น Gate Way ประตูเชื่อมเส้นทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และรองรับระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก


กำลังโหลดความคิดเห็น