xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อค้าไทย-พม่าพุ่งกว่า 30 % หลังเกิดสะพานมิตรภาพฯ2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐ-เอกชนเชื่อว่า เมื่อมีสะพานมิตรภาพไทย-พม่า 2 มูลค่าการค้าจะเพิ่มสูงขึ้น
ตาก-รัฐ/เอกชน ชายแดนแม่สอด ประสานเสียงโปรเจกต์สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 แม่สอด-เมียวดี หนุนเศรษฐกิจชายแดนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เร่งสานต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-ประสานพม่าให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อ เชื่อหลังสะพานเสร็จยอดการค้าโตอีกไม่น้อยกว่า 30-40%แน่

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวภายหลัง ครม.มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า หลังการเดินทางมาลงพื้นที่ชายแดนแม่สอด ของนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2552 ในโครงการลอจิสติกส์สัญจรเพื่อปรับยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทย-พม่า เพิ่มมูลค่าการส่งออกและปรับฐานการตลาด จนนำไปสู่การอนุมัติหลักการของ ครม.ที่จะพัฒนาพื้นที่แม่สอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ฝ่ายการเมือง-ภาครัฐและเอกชน ในจังหวัดตาก ได้ประสานการทำงานเชิงรุก จนทำให้เกิดโครงการได้อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ

ต่อไปเราจะต้องเร่งประสานกับทางพม่า เพื่อประสานความร่วมมือกับพม่า ในการเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 และการสนับสนุนพม่าก่อสร้างถนน แม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก ที่จะเชื่อมต่อกันเป็นระบบคมนาคมที่สมบรูณ์ และลดต้นทุนการขนส่ง พัฒนาระบบลอจิสติกส์ต่อไป

นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อคือการทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอดอย่างจริงจัง เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ให้ดียิ่งๆขึ้น

เขามองว่า การก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 2 จะทำให้เกิดกระแสทางการค้าชายแดนที่ดีขึ้นทันที ในระยะสั้นนี้ แต่ในระยะยาวก็ควรดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ชายแดนแม่สอด เช่น เมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นภาษี อย่างไรบ้าง เป็นต้น

ด้านนายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนแม่สอด โดยเฉพาะโครงการสะพานมิตรภาพ ฯแห่งที่ 2 เป็นกระแสข่าวที่ดี กับคนไทยในพื้นที่ ทำให้เกิดแนวโน้มที่ดีในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน และทำให้นักธุรกิจมีความมั่นใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจในหลายๆรูปแบบในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และจะทำให้การค้าชายแดนสูงขึ้น

“ในงบประมาณปี 2552 ด่านศุลกากรแม่สอด เก็บภาษีการค้าผ่านแดนทางพิธีการทางศุลกากรได้เกือบ 300 ล้านบาท เป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยเก็บได้ ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดน สูงเกือบ 30,000 ล้านบาท หากมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯแห่งใหม่ ที่สามารถทำให้ระบบการขนส่งสินค้า รวดเร็วและมากขึ้น จะทำให้มูลค่าการค้าสูงขึ้นไปอีก 30-40 %”

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ได้เห็นชอบหลักการการพัฒนาพื้นที่ เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้ คือ 1. ให้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)

2. ให้เร่งรัดการดำเนินโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออก เบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และศูนย์ลอจิสติกส์ รวมทั้งคลังสินค้า (Logistics Park) ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจัดหาพื้นที่ตามแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2

3. ให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า โดยมี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า ให้เป็นไปอย่างบูรณาการต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น