ASTVผู้จัดการออนไลน์ -
ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายที่จะให้ความสำคัญสินค้าการเกษตรเป็นพิเศษ โดยมุ่งเน้นผลิตอาหาร และพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลจะบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่
ขณะเดียวกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลมาหลายยุคสมัย ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายที่จะยกเลิกการรับจำนำสินค้าเกษตรเป็นการประกันราคาแทน
ทั้งนี้ ที่ประชุมธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เสนอให้รัฐบาลประกันสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาวจะต้องจัดทำระบบลงทะเบียนเกษตรกรให้ชัดเจนว่า มีกลุ่มใด ปลูกข้าวพันธุ์อะไร มีพื้นที่เท่าไหร่ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และไม่ควรประกันราคาสูงกว่าท้องตลาด
“ประจบ เชิญผึ้ง” เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคูรัด อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ในฐานะชาวนาที่สั่งสมประสบการณ์เพาะปลูกข้าวมานานกว่า 10 ปี บอกกับเราว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลประชาธิปัตยให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวไร่ชาวนา แต่ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการช่วยเหลือให้เกษตรกรพ้นจากภาระหนี้สินความยากจนได้หรือไม่
“ผมดีใจที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร แต่การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จากการรับจำนำมาเป็นการประกันราคานั้น ก็อาจไม่ใช่หนทางที่แก้ไขปัญหาได้ ทางที่ดีรัฐบาลควรตั้งโรงสีรับจำนำสินค้าเกษตรโดยตรงจะดีกว่า กระนั้นก็ตามผมเห็นว่าการป้องกันปัญหาทุจริตจะต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือจากฝ่ายรัฐ เอกชน และชาวนา จะต้องกล้าปฏิเสธไม่เข้าสู่วงจรทุจริต อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลควรมุ่งเน้น ก็คือการพัฒนาภาคการเกษตรแบบยั่งยืน ให้ชาวไร่ ชาวนายืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเองให้ได้ เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นำความรู้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษมาพัฒนาเพิ่มผลผลิต”
ปัจจุบันชาวนาทำนาแข่งกับเวลา ใช้เทคโนโลยี ใส่ปุ๋ยสารเคมีเข้ามาแทนทีภูมิปัญญาบรรพบุรุษเราที่สมัยก่อนใช้ควายใช้ปุ๋ยธรรมชาติ สมัยก่อนเราทำนาปีละครั้งไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงอะไรมากมาย เพราะดินดีน้ำดี ปัจจุบันหลายพื้นที่ทำนาปีละ 3-4 ครั้ง วิถีชีวิตเปลี่ยนไปต้องแข่งขันกับเวลา ต้องเผาตอซังข้าว เพื่อให้รถไถเปิดหน้าดินได้ง่าย แต่ผลเสียของการเผาตอซังมากมาย ทั้งภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย สัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดิน รวมถึงแมลง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาคุณภาพของดิน ก็ถูกทำลายไปด้วย
เวลาเพาะปลูกต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มาก ยิ่งถ้าใช้ปุ๋ยสูตรปุ๋ยเคมี ดินจะเสียหายภายใน 2 ปี พอปีที่ 3 นาที่ใช้ปุ๋ยเคมีดินจะแข็ง ต้นข้าวจะอ่อนแอไม่มีภูมิต้านทานศัตรูพืช ทั้งเชื้อรา และแมลงต่างๆ เกษตรกรต้องเสียเงินซื้อเคมีกำจัดศัตรูพืช และต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันได้หันหลังให้กับปุ๋ยเคมีอย่างสิ้นเชิง
“ประจบ เชิญผึ้ง” ได้นำภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ่ายทอดลงสู่พื้นนาของเขากว่า 70 ไร่ อาจพูดได้ว่าเป็นผืนนาที่แปลกแหวกแนวกว่าท้องนาทั่วๆ ไป เขาเนรมิตคันนาและได้ขุดร่องน้ำรายล้อมรอบแปลงนา ควบคู่ไปกับการปลูกไม้ยืนต้นบนบนคันนา อาทิ มะพร้าวเตี้ยน้ำหอมที่ออกผลดกเต็มต้น
ขณะเดียวกันในร่องน้ำยังกักเก็บน้ำใสใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปียังอุดมไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นจากนานผืนนี้รับรองว่าปลอดสารพิษปนเปื้อน
ปัจจุบันครอบครัว “เชิญผึ้ง” ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอยู่กับครบอครัวที่อบอุ่น ไม่มีภาระหนี้สิน ซึ่งเขายังแสดงความเชื่อมั่นกับเราว่า อาชีพชาวนาสามารถยึดเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบายๆ หากนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ เพราะวิถีพอเพียงของพระองค์ไม่ได้จำกัดความร่ำรวย หากแต่ละปีเขามีเงินหมุนเวียนจากการปลูกข้าว และทำไร่นาแบบผสมผสานนับล้านบาททีเดียว