xs
xsm
sm
md
lg

เมืองจันท์ประชุมจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดปี 54 ชู “นครผลไม้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จันทบุรี-จังหวัดจันทบุรี ประชุมเตรียมพร้อมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด 2554 เน้นเข้ากับสถานการณ์ ปรับวิกฤตเป็นโอกาส พร้อมชูนครผลไม้ แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย เมืองปลอดสารพิษแหล่งสูดโอโซน คงไว้ซึ่งนครอัญมณี ที่มุ่งเน้นพัฒนาการค้าอัญมณีสู่ระดับโลก

นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้จังหวัดจันทบุรีได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงาน “ทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด” ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการทุกสังกัดในจังหวัด ผู้แทนภาคประชาชน และภาคธุรกิจเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัดจันทบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี

ในการจัดทำแผนดังกล่าวมีการแบ่งการทำงานออกเป็น 4 กลุ่ม ครอบคลุมทุกภาคส่วน ประกอบด้วย กลุ่มจุดแข็ง กลุ่มจุดอ่อน กลุ่มโอกาส และกลุ่มภัยคุกคาม เนื้อหาโดยสรุป กลุ่มจุดแข็ง มีวิสัยทัศน์ ให้จังหวัดจันทบุรี เป็น “นครผลไม้คุณภาพระดับสากล” โดยมียุทธศาสตร์มุ่งการยกระดับกระบวนการผลิต (ผลไม้) ให้ได้มาตรฐานสากล (Global GAP) รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาด้านการจัดการด้านการตลาด

ทั้งนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของตลาดในระดับสากล เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคมีความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม และ เพื่อเพิ่มรายได้ขณะที่ กลุ่มจุดอ่อน มองว่าจังหวัดจันทบุรีควรจะเน้นวิทัศน์ “นครแห่งการศึกษา อัญมณี และผลไม้คุณภาพ โดยชูยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผลไม้

การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพอัญมณี และการพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยว โดยมีเป้าประสงค์ คือ เมืองจันท์มีผลไม้หลากหลายชนิด ที่มีคุณภาพมาตรฐาน, เป็นศูนย์กลางวัตถุดิบและการผลิตอัญมณีจากทั่วโลก, เป็นศูนย์กลางการเจียระไนและการผลิตเครื่องประดับอัญมณีระดับมาตรฐาน, มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย (ภูเขา,น้ำตก ,ทะเล) ที่มีคุณภาพ (สะอาด, ปลอดภัย, โอโซนสมบูรณ์), ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่มีมาตรฐานเท่าเทียมสากล

ในขณะที่กลุ่มโอกาส มองวิสัยทัศน์ของจันทบุรีว่าควรจะเป็นประตูการค้าสินค้าเกษตรคุณภาพ และอัญมณีระดับโลก และชูยุทธศาสตร์การสร้างองค์ความรู้และจัดการสินค้าเกษตรคุณภาพเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการแข่งขันผู้ผลิต ยกระดับคุณภาพสินค้าละการเกษตรและอัญมณีสู่มาตรฐานสากล เสริมสร้างศักยภาพการตลาดแก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการค้าแบบข้อตกลงล่างหน้า พัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ครบวงจร

จังหวัดมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิต เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการผลิตและการจัดการสิค้าเกษตรคุณภาพ สินค้าเกษตรทีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าอัญมณี ผู้ประกอบการมีความสามารถในการตลาด เพื่อเพิ่มความรู้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ผลิตด้านการตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำ

กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มภัยคุกคาม มองว่า วิสัยทัศน์เมืองจันท์ควรจะเป็นมหานครแห่งอัญมณี ผลไม้ และธรรมชาติ และชูยุทธศาสตร์ การยกระดับการผลิตสินค้าให้ทีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตผลไม้ ให้มีคุณภาพ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้มีคุณภาพเป้าประสงค์ คือ เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีของโลก เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยของโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ระดับโลก

นายฉัตรมงคล แน่นหนา รองผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานโยบายและการจัดการ คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ในฐานะ ที่ปรึกษาในการทบทวนแผนฯ เปิดเผยว่า ได้วางกรอบแผนพัฒนาจังหวัดจันทบุรี โดยให้วิเคราะห์จากสภาพการณ์ด้านศักยภาพโดยดูว่าจังหวัดมีศักยภาพในเรื่องอะไรบ้าง แล้วจึงจะมาดู ปัจจัยภายนอกหรือความต้องการในการที่จะใช้ศักยภาพของจันทบุรีเพื่อไปก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและคนในจังหวัดว่า มีโอกาสหรือสภาพใดบ้างที่เอื้อกันได้

จากการจึงวิเคราะห์ได้ออกมาเป็น 2 ส่วน แล้วนำมาเป็นกรอบพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในระยะกลาง คือวิสัยทัศน์ หลังจากดำเนินการแล้ว พบว่า จันทบุรีมีศักยภาพในการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นเมืองการค้าผลไม้ปลอดสารพิษ และอัญมณีระดับโลก เมื่อมีวิสัยทัศน์และมีทิศทางแล้วจะต้องมีแนวทางที่จะต้องบรรลุทิศทางนั้นด้วย

แนวทางที่ว่า คือ การวางยุทธศาสตร์ ทั้งในเชิงรุก เช่น จะต้องขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่และ ยุทธศาสตร์ในเชิงตั้งรับ คือ การพัฒนาบางส่วนของจันทบุรีที่ยังมีศักยภาพไม่เพียงพอให้มีศักยภาพที่เพียงพอมากขึ้น เช่นศักยภาพอัญมณี มีความสามารถในการเข้าสู่ตลาดโลกให้ได้ ถ้าจันทบุรี มีการพัฒนาด้านคุณภาพ ด้านมาตรฐาน จะเป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ใช้กรอบยุทธศาสตร์เชิงรุก และเชิงรับ ที่สำคัญจันทบุรีจะใช้ยุทธศาสตร์ในการปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น ขณะนี้ความต้องการในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ต่อประเทศไทยลดลง ในขณะที่จันทบุรีมีศักยภาพที่จะไปรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศบางกลุ่ม ดังนั้นเราก็ถือวิกฤติตรงนี้เป็นโอกาส ในการไปเจาะลูกค้าต่างระเทศที่เป็นลูกค้าที่มีศักยภาพเข้ามาท่องเที่ยวในจันทบุรี อันนี้คือกรอบที่วางไว้

นายฉัตรมงคลกล่าวอีกว่า จากการประเมินผลที่จันทบุรี 2-3 ประเด็น โดยอาศัยหลักวิชาการ และ การใช้ข้อมูลที่ถูกต้องมาวิเคราะห์ รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ถือว่าจันทบุรีมีกระบวนการมีส่วนร่วมครบถ้วนตามที่กำหนด ผลที่ได้จากการที่เรามาใช้กระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดแผนยุทธศาสตร์ ที่สอดรับกับสภาพของการพัฒนาจันทบุรี เป็นที่น่าพอใจในระดับเกิน 80% ขึ้นไป

ทั้งนี้ คาดว่าแผนน่าจะเป็นแผนที่ดี ที่จะทำให้จันทบุรีพัฒนาไปสู่เมืองระดับสากล ในระดับโลกได้ ถ้าประเมินเกี่ยวกับผลการที่คนได้มีส่วนร่วม ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของในแผน เชื่อว่า การที่จะผลักดันให้แผนประสบความสำเร็จจะทำไม่ยาก เนื่องจากมีภาคส่วนต่าง ๆมีส่วนร่วมในการเริ่มคิด เมื่อทำแล้วจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ก็เชื่อว่าทุกคนที่ร่วมคิดและร่วมทำก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนแผนให้สอดรับกับสถานการณ์

ประเด็นสำคัญที่สุดในการประเมินผู้นำของจังหวัด คือ ตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญ กับเรื่องนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับหลายจังหวัด เพราะผู้ว่าฯที่จันทบุรีเป็นผู้ริเริ่มความคิดนี้ขึ้นมาจากความต้องการที่จะทำให้จังหวัดมีแผนพัฒนาที่ถูกต้อง และตรงกับข้อเท็จจริงและอิงหลักวิชาการ และมีการเข้ามีมีส่วนร่วมในการที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิด การแสดงความคิดเห็น และเข้าสังเกตการณ์เพื่อช่วยให้ทุกคนเกิดการคิดริเริ่มและมีกำลังใจ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ประเมินว่าความสำเร็จอันนี้ความสำคัญอยู่ที่ตัวผู้นำของจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีส่วนผลักดันให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม สุดท้ายผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม แผนจะต้องนำเอาไปทบทวนอีกครั้งกระบวนการสุดท้าย ก็จะต้องทำการประชาพิจารณ์ให้คนจันทบุรีได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น เพื่อปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายวินัย วิทยานุกูล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นการวางดัมมี่เตรียมพร้อมก่อนจะมีการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดกันอย่างจริงจัง ในเบื้องต้นเป็นการตั้งคณะทำงาน ซึ่งมาจากองค์กรหลัก 3 ส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอาทิ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เน้นเข้ากับสถานการณ์ ปรับวิกฤตเป็นโอกาส เบื้องต้น ชูนครผลไม้มุ่งพัฒนาการค้าผลไม้ปลอดสารพิษ แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ชูจันทบุรีเมืองปลอดสารพิษแหล่งสูดโอโซน คงไว้ ซึ่งนครอัญมณี ที่ยังเน้นพัฒนาการค้าอัญมณีสู่ระดับโลก และในวันที่ 3 ส.ค.52 จะมีการประชุมทบทวนแผนจริง ก่อนบรรจุอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น