ตราด-กระทรวงพลังงานเล็งสำรวจการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ ต.ไม้รูด หลังพบเหมาะสม ผู้ว่าฯ ตั้งข้อสังเกตผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะนายก อบต.ไม้รูดค้านการก่อสร้าง แฉคณะทำงานให้ข้อมูลชาวบ้านไม่กี่คน เชื่อคนส่วนใหญ่คัดค้านแน่
เวลา 09.00 น. วันนี้ (11 ก.ค.) ที่ห้องประชุมธารมะยม ศาลากลางจังหวัดตราด นายแก่นเพชร ช่วงรังสี ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานการประชุมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีพลอากาศเอกพิเนต ศุภรวรรณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ โรงเรียนนายเรืออากาศ ในฐานะประธานคณะทำงานคัดเลือกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน และคณะเข้าร่วมประชุม
พล.อ.อ.พิเนต กล่าวว่า ในวันนี้ได้เป็นผู้แทนของกระทรวงพลังงาน โครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล มาดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อจะทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นการสร้างพลังงานทดแทนใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งถ่านหิน น้ำมัน แก๊สจะหมดไปในอนาคต รัฐบาลต้องหาพลังงานฐานหรือพลังงานหลัก ให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า ที่เดินทางเข้ามาพบผู้ว่าราชการจังหวัดตราดเพื่อขออนุญาตขุดเจาะสำรวจในพื้นที่เท่านั้นว่าพื้นที่มีความเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้จะพิจารณาประเด็นการสำรวจ 3 ประการ คือ 1. ด้านวิศวกรรม แหล่งน้ำ เทคโนโลยี 2. ด้านสิ่งแวดล้อมทางบก ทางทะเล ป่าชายเลน 3. ด้านเศรษฐศาสตร์ ต้องดูว่ามีความเหมาะสมและคุ้มค่ามากน้อยเพียงใดในการลงทุน ขอเน้นว่าแค่มาขออนุญาตเข้าเจาะ หลังจากนั้นในเดือน ก.ค. – ส.ค. 2553 ทางกระทรวงพลังงานจะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประเมินผล และรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งประเมินโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะรายงานความคิดเห็นของประชาชน
ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างนั้นมีความสนใจใน พื้นที่ ต.ไม้รูด โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะเป็นประชาชนใน ต.ไม้รูดและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ องค์การบริการส่วนตำบลคลองใหญ่ , แหลมกลัด และ ใน อ.เมือง ซึ่งต้องดูจากภาพรวมของพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ซึ่งในหลักการจะมีการรับฟังความคิดเห็นว่าเป็นอย่างไรต้องมีการเสนอ เรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา อีกครั้งหนึ่ง
ประธานคณะทำงานคัดเลือกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือก ต.ไม้รูด เพราะอยู่ริมทะเล เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยและรายได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ไม้รูดเป็นเพียงเป็น 1 ใน 14 แห่งเท่านั้นยังต้องมีการสำรวจในพื้นที่อื่น ๆ อีก ทางกระทรวงพลังงานจะทำการบันทึกพื้นที่ไว้ว่าได้มีการสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ โดยภาคตะวันออกสำรวจที่ จ.ตราด ภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราชและสุราษธานี ภาคเหนือตอนกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในแง่เสีย ข้อดี- ข้อเสีย หรือผลที่จะเกิดตามมา จะเห็นว่าภายใน 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเกิดอุบัติเหตุทางด้านนิวเคลียร์ เทคโนโลยีของเราจะดีมาก มีระบบหลายๆ ระบบ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากทางอินเทอร์เน็ต จะพบว่าไม่เคยมีปัญหาด้านนิวเคลียร์แต่อย่างใด
นายแก่นเพชร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวงพลังงานจะมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ จ.ตราด หากไม่เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ซึ่งตนเองในฐานะภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุน แต่คณะทำงานจะต้องทำการสำรวจศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ให้ครบถ้วน ตนเองจะได้ตอบชาวบ้านได้ อีกทั้งขอให้ทำรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษร หากตนเองย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นผู้ว่าฯ ที่จะเดินทางมาใหม่จะได้รับรู้และสานต่อนโยบายได้
ขณะที่นายสนทยา กล่อมสังข์ นายก อบต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ ต.ไม้รูดที่คณะทำงานฯ มาพบและพูดคุยนำเสนอข้อมูลให้ที่ประชุมที่มีผู้ใหญ่บ้านเพียง 1 คน ปลัดอาวุโส อ.คลองใหญ่ สมาชิก อบต.ไม่กี่คนและรองนายก อบต. 1 คน ตนเองไม่ได้ประชุมด้วย เพราะติดประชุมไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งไม่รู้ว่าคณะทำงานฯ คิดอย่างไร ทำไมถึงเลือกในพื้นที่ ต.ไม้รูด ที่อื่นน่าจะเหมาะสมกว่า
“ผมไม่รู้ว่าคณะทำงานคิดอย่างไรว่าไม้รูดมีความเหมาะสม เรื่องนี้จะร้ายแรงกว่าเรื่องทรายแก้วที่ชาวบ้านไม่พอใจและต่อต้าน ซึ่งผมต้องพูดคุยกับชาวบ้านก่อน และไม่ต้องการให้เป็นเรื่องของการเมืองด้วย หากดำเนินการไปอาจจะกระทบการเลือกตั้งได้ แต่ผมพูดตรงนี้ว่าชาวบ้านไม้รูดคงไม่เห็นด้วย”นายสนทยากล่าว
ทั้งนี้ ตำบลไม้รูดถือเป็นที่ตั้งของหาดทรายที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะหาดบานชื่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นหาดที่มีเม็ดทรายละเอียดที่สุดในโลก