xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีระบบโลก กับ การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์โลก (2)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ทฤษฎีระบบโลก : ประวัติศาสตร์แห่งปัจจุบัน และอนาคต

คนไทยมักไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์นัก เพราะไปหลงคิดว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อมาก อาจจะเพราะเราเรียนเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งมีกรอบเรื่องราวที่แคบ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เรียนก็เป็นเพียงเรื่องสงครามหรือการสู้รบเท่านั้น อย่างเช่น ประวัติศาสตร์สงครามการสู้รบระหว่างไทยกับพม่า

เราลืมไปว่า ‘ประวัติศาสตร์ คือวิชาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และไม่ได้ดำรงอยู่ในพรมแดนที่แน่นอน มีเรื่องราวทุกเรื่อง ทุกรส ทุกแนว ทุกวิถีทาง รวมดำรงอยู่ด้วยกัน’

มีเรื่องราวอะไรเล่าที่ผ่านมาไม่ถือว่าเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แม้แต่เรื่องราวของการกำเนิดจักรวาล กำเนิดมนุษย์ เรื่องราวของคนบ้าคนหนึ่ง หรือแม้แต่เรื่องความเป็นมาของสุนัขพันธุ์ต่างๆ ก็ถือว่าอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ทั้งนั้น

ดังนั้น วิชาประวัติศาสตร์ คือองค์รวมของวิชาทุกวิชาที่ประกอบเข้ามาด้วยกัน

เมื่อเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราก็จะได้ความรู้มากมายในทุกๆ ด้านในเวลาเดียวกัน

ที่น่าสงสารกว่าคือความเชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องราวในอดีต ไม่เกี่ยวข้องอะไรมากนักกับปัจจุบัน’

เราลืมไปว่า เราแยกปัจจุบันจากอดีตไม่ได้เลย

เวลาที่เราพบเรื่องราวที่กำลังก่อเกิดขึ้นในปัจจุบัน เราก็จะค้นพบรากที่มาหรือสาเหตุซึ่งดำรงอยู่ในอดีต

บางครั้งก็พบว่า มีเรื่องราวคล้ายๆ กันจำนวนมากมาย ซึ่งเคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอดีต

สาเหตุที่มาของเรื่องราวเหล่านั้น หลายต่อหลายครั้งมักจะคล้ายๆ กัน และจุดจบสุดท้ายก็มักไม่ต่างกัน

นักประวัติศาสตร์บางท่านจึงชอบกล่าวไว้ว่า

“ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ”

แต่ที่แท้แล้ว ประวัติศาสตร์ มักจะเคลื่อนตัวเป็นวัฏจักรที่หมุนไปหมุนมา แต่ไม่ซ้อนทับที่เดิม

ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ Empireหรืออาณาจักรโบราณ ก็มักจะมีชีวิตแบบวัฏจักรของการก่อเกิด รุ่งเรือง แพร่ขยายตัว และเสื่อมสลาย ไม่ต่างกัน

นี่คือหลักพุทธที่เรียกว่า วัฏสังสาร

สาเหตุของการก่อเกิดและการเสื่อมสลายก็คล้ายๆ กัน

เมื่อถึงคราวเสื่อมสลายและความตาย ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านใหญ่

ประวัติศาสตร์ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะแบบหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้จะมีวิกฤตรุนแรง และมีความพลิกผันขนาดใหญ่ก่อปรากฏขึ้น

ถ้าถามผมว่า

“ประวัติศาสตร์โลกหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คือประวัติศาสตร์แบบไหน”

ผมก็คงตอบอย่างมั่นใจว่า

“นี่คือ ประวัติศาสตร์ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านขนาดใหญ่”

ถ้าจะเข้าใจช่วงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่าน เราน่าจะศึกษาอดีต หรือประวัติศาสตร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านในยุคที่ผ่านมา ก็จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านในช่วงปัจจุบันได้ดีขึ้น

การเรียนรู้อดีตนั้นจึงมี ‘ค่า’ มาก เพราะจะช่วยให้เราอ่านปัจจุบัน และอนาคตได้ดีมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ทั่วไปเริ่มหันไปศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ที่เรียกว่า The Great Depression เพราะเชื่อกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้น่าจะรุนแรงไม่ต่างจากวิกฤตใหญ่ในช่วง ค.ศ. 1929 ถึง 1933

นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า เราน่าจะเรียนรู้แบบสรุปบทเรียน ศึกษาทั้งด้านความสำเร็จ และความล้มเหลวในการแก้ปัญหายุคนั้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน

แต่ผลงานศึกษาเท่าที่ผมอ่านพบกลับมีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คืองานส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ จึงมองโลกอย่างแยกส่วน มองเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น จึงหลงสรุปคิดไปว่า The Great Depression ถือเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ปัจจุบัน ทฤษฎีระบบโลกจะสอนให้เราเข้าใจโลกแบบบูรณาการ (ไม่แยกส่วน)

ดังนั้น ถ้ามองแบบไม่แยกส่วน เราจะพบว่าวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 1929 ถึง 1933 นั้น ก่อกำเนิดขึ้นในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

มองอย่างต่อเนื่อง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้แยกไม่ออกจากวิกฤตการเมือง หรือสงครามครั้งประวัติศาสตร์ของโลก

สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่แท้แล้วคือสงครามเดียวกัน ถ้ามองในทางประวัติศาสตร์การเมือง

สงครามโลกนี้ คือพลังที่นำสู่การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ระบบโลก หรือกาลอวสานของระบบโลกในยุคอุตสาหกรรมเบา ซึ่งมีประเทศอังกฤษ (จักรวรรดิโลก) เป็นจ้าวมหาอำนาจ

ในเวลาเดียวกัน สงครามครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงสงครามทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นสงครามการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมด้วย

หรือกล่าวได้ว่าเป็นสงครามระหว่าง 2 สายความเชื่อ และวัฒนธรรม (ปรัชญาและทฤษฎี) ที่แตกต่างตรงข้ามกัน

สายหนึ่ง คือสายวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเชื่อในลัทธิการล่าอาณานิคมและการสร้างอาณาจักรครอบโลก รวบอำนาจ และรวบความมั่งคั่งไว้ที่ศูนย์กลางของระบบโลก

อีกสายหนึ่งคือ สายวัฒนธรรมที่ต่อต้านลัทธิการล่าอาณานิคม และต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ มีแนวคิดในเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราชและประชาธิปไตย บวกรวมกับแนวคิดแบบสังคมนิยมและชาตินิยม

สงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยวิกฤต The Great Depression และตามด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของสงครามที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบรรดาประเทศเมืองขึ้น

รวมกันทั้งหมด คือภาพวิกฤตแบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วยวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว

กล่าวโดยสรุป

วิกฤตทั้งหมด (ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม) คือพลังที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งนำสู่การเปลี่ยนผ่านระบบโลกครั้งประวัติศาสตร์

หลังจากสงครามโลกครั้ง 2 ระบบโลกซึ่งมีอังกฤษเป็นจ้าวมหาอำนาจได้สิ้นอำนาจลง ระบบโลกใหม่ได้ก่อเกิดขึ้น และแตกเป็น 2 ระบบ (หรือ 2 ค่าย) มีค่ายทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง กับค่ายสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นศูนย์กลาง

การล่าอาณานิคมแบบเก่าสิ้นสภาพลง ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นจำนวนมากได้รับเอกราช
ระบบการผลิตใหม่ได้เกิดก่อและขยายตัวขึ้น ที่เราเรียกกันว่า ระบบอุตสาหกรรมหนัก (เหล็ก รถยนต์ เครื่องบิน โทรทัศน์ และพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์)

ถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์แบบคลื่นลูกยาว (Long History) และถามว่า “จุดเริ่มของลูกคลื่นการเปลี่ยนผ่านในอดีต (ช่วงสงครามโลก) นั่นเริ่มเมื่อไรแน่”

เราก็จะพบว่า ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านเริ่มต้นจริงๆ ในช่วง ค.ศ. 1900 ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเริ่มหดตัว และในเวลาเดียวกัน มหาอำนาจโลกคือจักรวรรดิอังกฤษเริ่มเสื่อมทรุดทางการเมืองและการทหาร

14 ปีหลังจากนั้น จึงเกิดสงครามโลกขึ้น (ค.ศ. 1914 ถึง 1949) ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง วิกฤตสงครามได้แปรสภาพเป็นวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่เรียกกันว่า The Great Depression ในช่วงระหว่างสงครามโลก

ถ้าเรากลับมามองวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยลองมองประวัติศาสตร์แบบคลื่นลูกยาว และตั้งคำถามทำนองเดียวกัน

“วิกฤตลูกนี้เริ่มขึ้นจริงๆ เมื่อไหร่”

ผมคงตอบว่า เริ่มขึ้น ‘จริง’ ประมาณ ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ทุนศูนย์กลางของระบบโลกเริ่มวิกฤตใหญ่ครั้งแรก (จากการทรุดตัวของสินค้าไฮเทค และการแตกของฟองสบู่ E-Economy ในช่วงปลาย ค.ศ. 2000)

ต่อมา วิกฤตลูกนี้ ก็แปรสภาพกลายเป็นสงครามเช่นกัน คือสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับโลกมุสลิม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือองค์กรผู้ก่อการร้ายสากล และกับบรรดารัฐต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาอ้างว่าเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายสากล อย่างเช่น อัฟกานิสถาน อิรัก และอิหร่าน)

สงครามครั้งนี้ เริ่มเกิดก่อขึ้นประมาณ ค.ศ. 2002 และเกิดต่อมาเรื่อยๆ แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็สามารถทำให้จักรวรรดิอเมริกาถลำลึกและติดกับสงคราม

หลังจากนั้นไม่นาน ประมาณ ค.ศ. 2006 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ เริ่มต้นจากวิกฤตน้ำมัน (2006) และตามด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วง ค.ศ. 2007 ถึง 2008

ศูนย์ที่ก่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิกฤตดังกล่าวส่งผลทำให้ฐานะความเป็นศูนย์ของระบบโลกทางเศรษฐกิจ (ศูนย์ของการเงินโลก และศูนย์ของตลาดการบริโภคของโลก) และทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาเริ่มเสื่อมทรุด

ถ้าเราศึกษาโลกทางการเมือง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เราก็คงจะเรียกช่วงประวัติศาสตร์นั้นว่า “ยุคหลังจักรวรรดิอังกฤษเป็นใหญ่” และถ้าเรานำมาเทียบกับวิกฤตปัจจุบัน เราก็น่าจะเรียกช่วงประวัติศาสตร์นี้ได้ว่า “ช่วงหลังยุคสหรัฐอเมริกาเป็นใหญ่”

ในช่วงหลังยุคอังกฤษเป็นใหญ่ ได้เกิดศูนย์อำนาจใหม่ในระบบโลกขึ้นมา 2 ศูนย์ และเริ่มพัฒนาเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ

ศูนย์แรกคือ สหรัฐอเมริกา และอีกศูนย์หนึ่งคือ สหภาพโซเวียต

ทั้ง 2 ศูนย์อำนาจได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสงครามโลก และกลายเป็นชาติมหาอำนาจในเวลาต่อมา (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น