xs
xsm
sm
md
lg

“ได๋ ไดอาน่า-USCRI” ลุยเยี่ยมผู้ลี้ภัยชายแดนตาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- “ได๋ ไดอาน่า” ในฐานะทูตผู้ลี้ภัยประจำประเทศไทยของ USCRI ลุยเยี่ยมกะเหรี่ยงลี้ภัยสงครามชายแดนตาก ตั้งความหวังใช้ชื่อเสียง ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ลี้ภัยได้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น

น.ส.สุพรรณี จงจินตนาการ หรือได๋ ไดอาน่า ดาราและพิธีกรชื่อดัง ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Committee for Refugees and Immigrants) หรือ USCRI ให้เป็นทูตผู้ลี้ภัยคนแรกของเมืองไทย ได้เดินทางมาเยือนผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่าที่เข้ามาพักพิงเพื่อหลบหนีภัยจากการสู้รบที่ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภารกิจแรกของ ได๋ ไดอาน่า หลังได้รับแต่งตั้งเป็นทูตผู้ลี้ภัย USCRI

โดย “ได๋ ไดอาน่า” พร้อมด้วยนายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการของสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสซีอาร์ไอ) ประจำประเทศไทย เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเดินทางไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หลบหนีภัยการสู้รบที่สำนักสงฆ์พระธรรมจาริก บ้านหนองบัว ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

หลังจากได้มีโอกาสพบปะสนทนาและแจกจ่ายสิ่งของให้กับกลุ่มผู้อพยพและกลุ่มเด็กๆที่มาคอยต้อนรับ “ได๋ ไดอาน่า” ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เมื่อเธอมีโอกาสและได้รับเลือกให้เป็นทูตผู้ลี้ภัยคนแรกของประเทศไทย ไม่ได้คาดหวังที่จะทำให้คนไทยทั้งประเทศหันมารักผู้ลี้ภัย หรือไม่ได้พยายามจะชักชวนให้คนไทยมารักผู้ลี้ภัยด้วยเช่นกัน สิ่งที่เธอจะทำและพยายามที่จะทำก็คือ การสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของผู้ลี้ภัย

“ได๋รู้ว่าตัวเองไม่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมาย แต่เชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่าทั้งได๋ และทีมงานของยูเอสซีอาร์ไอเองจะร่วมกับทุกๆคนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่ผู้ลี้ภัยให้ได้”

“ได๋ ไดอาน่า” ยังกล่าวส่งท้ายอีกว่า คิดว่าทุกๆ ท่านคงเคยได้ยินประโยคที่เขาบอกว่า ที่อยู่อาศัยมักจะสร้างด้วยอิฐและปูน หรือไม้ไผ่ สำหรับผู้ลี้ภัย แต่ “บ้าน” มักจะสร้างด้วยความรักเพียงอย่างเดียว ซึ่งในท้ายสุดพวกเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้กลับไปอีกก็เป็นได้ แต่การที่ได้รับเลือกให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของยูเอสซีอาร์ไอ ประเทศไทย ในการรณรงค์เพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเข้าใกล้ความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา นั่นคือ “การได้รับโอกาส” ที่ตลอดชีวิตพวกเขาไม่เคยได้รับ เพราะความที่เธอมีความเห็นที่สอดคล้องกับทางยูเอสซีอาร์ไอ เกี่ยวกับการที่ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยถูกกักกันอยู่แต่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลากว่า 25 ปีทำให้เขาอยู่ห่างจาก “โอกาส” เป็นอย่างมาก

เธอบอกว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เพราะการทำงานในตำแหน่งนี้ของเธอคงจะมีส่วนที่ช่วยให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เข้ามาใกล้คำว่าโอกาสมากยิ่งขึ้น เพราะเธอสามารถนำเอาความมีชื่อเสียง และประสบการณ์ของการเป็นพิธีกร มาช่วยเรียบเรียงเรื่องราวของผู้ลี้ภัย ที่เสมือนชีวิตที่ถูกซ่อนอยู่ในเงามืด มาถ่ายทอดให้กับสื่อชนิดต่างๆ และส่งถ้อยความเหล่านั้นไปยังผู้ชมที่ชื่นชอบผลงานของเธอได้ไม่ยาก


“จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าในโลกนี้มีคนจำนวนมากที่ยังขาดโอกาส แต่บางทีเราไม่ได้รับรู้ข้อมูล หรือให้ความสำคัญ และให้โอกาสเขาในฐานะเพื่อนร่วมโลก หรืออย่างน้อยคือการเปิดใจ ซึ่งได๋ รู้สึกดีใจมากที่จะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมดีๆอย่างนี้ และร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับกิจกรรมดีๆ ที่น่าจะสื่อถึงคำว่า “โอกาส” ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจ และสักวันคงจะได้มีโอกาสในการร่วมกิจกรรมมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาสที่มากขึ้นค่ะ” ได๋ ไดอาน่า กล่าวและว่า

ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในพื้นที่อำเภอท่าสองยางประมาณ 3,000 คนที่สำนักสงฆ์พระธรรมจาริกอำเภอท่าสองยางจังหวัดตากประมาณ 1,500คน และพักอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อยู่ในค่ายผู้อพยพ 9 แห่ง 4 จังหวัดในประเทศไทยได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน ประมาณ 140,000 คน

โดยขณะนี้ผู้อพยพลี้ภัยสงครามจำนวนประมาณ 3,000 คน ที่อพยพเข้ามาหลบหนีภัยสงครามในช่วงเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานของตัวเองได้เนื่องจากมีการฝังระเบิดจากกองกำลังในฝั่งพม่าจำนวนมาก ทั้งของฝ่ายกะเหรี่ยงคริสต์ KNU หรือของฝ่ายกะเหรี่ยงพุทธ DKBA รวมทั้งของฝ่ายทหารพม่า ทำให้การเดินทางกลับอาจจะเกิดอันตรายในช่วงนี้

เนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองตลอดจนผลกระทบจากการสู้รบในพื้นที่ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาเยือนผู้อพยพในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและเป็นกระบอกเสียงในการบอกกล่าวเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมไทยมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อให้โอกาสผู้ลี้ภัยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์


กำลังโหลดความคิดเห็น