สถานีวิทยุซีอาร์ไอ รายงานว่า บ่ายวันที่ 8 ธันวาคมนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ไปยังมหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่ง เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “10 มิตรชาวต่างชาติที่ดีที่สุดในโลกของจีน” จากการลงคะแนนคัดเลือกของประชาชนชาวจีนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยรางวัลดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อร่วมฉลองในโอกาสครบ 60 ปี ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการคัดเลือกจากประชาชนจีนให้เป็น 1 ใน 10 มิตรที่ดีที่สุดในโลกของชาวจีน ด้วยคะแนนสูงมากจากกิจกรรมคัดเลือกมิตรที่ดีที่สุดของจีน 10 อันดับแรกทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการร่วมกันจัดกิจกรรมโดยสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ร่วมกับสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน และกรมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแห่งประเทศจีน จุดประสงค์ของกิจกรรมก็เพื่อให้ประชาชนจีนจดจำมิตรชาวต่างชาติที่สร้างคุณูปการในกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศจีนใหม่ โดยให้ผู้ฟังทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นคนจีนคัดเลือกมิตรชาวต่างชาติที่มีบทบาทต่างๆ ในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาของจีนอย่างน่าประทับใจในช่วงร้อยปี และหลังการสถาปนาจีนใหม่ มีระยะเวลาที่จัดกิจกรรมโหวต 40 วัน มีผู้โหวตคัดเลือกมากถึง 56 ล้านคะแนน และได้ประกาศผลไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา
สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า บ่ายวันที่ 8 ธันวาคมนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาศาลาประชาชนปักกิ่ง เพื่อรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “มิตรชาวต่างชาติที่ดีที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน” โดยนายเจี่ย ชิ่งหลิน ประธานสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล และได้กล่าวในนามรัฐบาลและประชาชนจีน ขอขอบคุณมิตรต่างชาติที่เคยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศจีนทุกท่านด้วยความจริงใจ
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่นางเหอสี่หลิง ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทย ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ http://thai.cri.cn/ ว่า เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบเรื่องนี้ พระองค์ทรงปลื้มปีติโดยทรงแย้มพระสรวล พร้อมรับสั่งว่า “การที่ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็น 1ในมิตรที่ดีที่สุด 10 อันดับแรกในโลกของชาวจีนนั้นแสดงให้เห็นว่า ข้าพเจ้าได้รับการยอมรับจากเยาวชนจีน ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ได้รับความนิยมจากมิตรชาวจีนพร้อมกับมิตรที่ดีที่สุดของจีนคนอื่นๆ”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังรับสั่งขณะพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุซีอาร์ไอว่า
“มิตรที่ดีที่สุดของจีนในโลกคนอื่นๆ ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก พวกเขาได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่จีน ข้าพเจ้าต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากจากพวกเขา ถ้ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้สร้างคุณูปการต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและพัฒนามิตรสัมพันธ์กับจีน เราก็ต้องแนะนำบุคคลเหล่านี้ให้ชาวจีนรู้จัก”
ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ รายงานว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล่าพระราชทานให้ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอฟังถึงสาเหตุที่เลือกเรียนภาษาจีนว่า เป็นข้อเสนอของสมเด็จแม่ (สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ)
“ตอนนั้น ข้าพเจ้าเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่าจะเลือกเรียนภาษาเยอรมัน แต่สมเด็จแม่ได้รับสั่งว่า เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนเป็นภาษาตะวันตก คิดว่าน่าจะเรียนภาษาจีน ภาษาจีนเป็นภาษาประเทศตะวันออก คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์มากกว่า ข้าพเจ้าคิดว่าการเลือกเช่นนี้ถูกต้อง”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสถึงการส่งเสริมให้เยาวชนไทยผูกมิตรกับจีน เรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนว่า “ที่จริงเวลาเรียนอยู่ในประเทศไทย ถึงแม้ครูจะเก่ง สอนดี ก็ไม่เหมือนเวลาที่พบคนจีนในสถานการณ์จริง เพราะฉะนั้น เด็กไทยในสมัยนี้ก็สนใจเรียนภาษาจีนกัน เด็กไทยถ้าเรียนในห้องเรียนก็ไม่ค่อยได้ผล ถ้ามีโอกาสที่ว่ามีครูแลกเปลี่ยนที่มาจากจีนมาสอน หรือว่ามีโอกาสได้พบเด็กจีนบ้าง การเรียนน่าจะดีขึ้น”
หลังจากพระราชทานสัมภาษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพรด้วยสองภาษาทั้งไทยและจีนว่า “ขอให้คนไทยและคนจีนศึกษาจากกันและกัน และให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เป็นเพื่อนกัน” และตรัสต่อผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า “ข้าพเจ้าหวังว่า คนไทยและคนจีนจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็น 1 ใน 10 มิตรชาวต่างชาติที่คนจีนเลือก ซึ่งมี นายฮวน อันโตนิโอ ซามารานซ์ อดีตประธานโอลิมปิกสากล ชาวสเปน ผู้สนับสนุนให้จีนได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2551 นายแพทย์นอร์แมน เบทูน ชาวแคนาดา ที่เดินทางมาช่วยเหลือประชาชนจีนในยุคสงครามต่อต้านการรุกรานจีนของญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ 1930 และเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ฯ นายจอห์น ราเบ้ ชาวเยอรมันที่ช่วยชีวิตชาวจีน 250,000 คนในระหว่างการรุกรานของญี่ปุ่น เอดการ์ สโนว์ นักเขียนอเมริกันผู้เขียน “Red Star over China” ในทศวรรษ 1930 จนทำให้กองทัพแดง และประธานเหมาเจอตุง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ดร.โจเซฟ นีดแฮม นักวิทยาศาสตร์ ชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานอมตะที่ใช้เวลาเขียนนานกว่า 50 ปี “Science and Civilisation in China” นายอิสราเอล เอปสไตน์ ชาวโปแลนด์เชื้อชาติจีน นายเรวี อัลลี นักการศึกษา นิวซีแลนด์ นายควารคานาธ เอส คอทนีส นายแพทย์ชาวอินเดีย นายโมริฮิโกะ ฮิรามัทสุ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Village One Product)