ตาก- “ได๋ ไดอาน่า” เยือนผู้อพยพที่ชายแดน ในฐานะทูต USCRI คนแรกของเมืองไทย เพื่อให้กำลังใจและดูแลความเป็นอยู่และให้สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง
รายงานข่าวจากชายแดนไทย-พม่า อ.ท่าสองยาง จ.ตาก แจ้งว่า ในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ US Committee for Refugees and Immigrants (USCRI) ได้มอบหมายให้ น.ส.สุพรรณี จงจินตนาการ หรือ ได๋-ไดอาน่า ดาราและพิธีกรชื่อดัง ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งจาก USCRI ให้เป็นทูตผู้ลี้ภัยคนแรกของเมืองไทย เดินทางมาเยือนผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ที่เข้ามาพักพิงเพื่อหลบหนีภัยจากการสู้รบ ที่ อ.ท่าสองยาง ซึ่งเป็นภารกิจแรกของ ได๋ ไดอาน่า หลังได้รับแต่งตั้งเป็นทูตผู้ลี้ภัย USCRI ในวันผู้ลี้ภัยโลก เพื่อมาให้กำลังใจและดูแลความเป็นอยู่ของผู้อพยพลี้ภัยสงครามและการเมืองในพม่ามาอยู่เมืองไทย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่พักพิงบ้านแม่หละและพื้นที่ชั่วคราวที่หลบหนีภัยสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกะเหรี่ยงอิสระ KNU เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคระกรรมการเพื่อผู้ลี้ถัย และผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันดี ซี สหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 โดยทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา และคุ้มครองผู้ลี้ภัยทั่วโลก ยูเอชซีอาร์ไอ ประจำประเทศไทย เข้ามาดำเนินการโครงการ “การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมไทยเพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัย” ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ปัจจุบันทางยูเอสซีอาร์ไอได้รับเงินสนับสนุนเงินจาก OAK Foundation และ OSI (Open Society Institute) เพื่อรณรงค์ยุติการกักเก็บผู้ลี้ภัยไว้ในค่ายโดยสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมไทยมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อให้โอกาสผู้ลี้ภัยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการทำงาน
สำหรับทูตผู้ลี้ภัยคนแรกของประเทศไทย ได๋-ไดอาน่า อายุ 28 ปี มีชื่อภาษาจีน ว่า เฉิน เมย หลิง เกิดที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2524 จบการศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาจีน เอกบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ในฐานะทูตผู้ลี้ภัยประจำประเทศไทย ไดอาน่าจะมีส่วนช่วยในการให้ความรู้แก่คนทั่วไปและภาคประชาสังคมของไทยไม่เใช่แค่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะถ่ายทอดเรื่องราวของความอดทนและความกล้าหาญของผู้ลี้ภัยที่เอาชนะความยากลำบากต่างๆนานาในการที่จะสร้างชีวิตใหม่กับผู้ลี้ภัย และได๋ ไดอาน่าก็จะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการบอกกล่าวให้ภาคประชาสังคมของไทยได้รับรู้ถึงความสามารถของผู้ลี้ภัยที่จะสามารถช่วยสนับสนุนสังคมของประเทศเจ้าบ้านให้เติบโตยิ่งๆขึ้นไปถ้าเพียงแต่ผู้อพยพจะได้รับสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และโอกาสที่ประเทศเจ้าบ้านจะหยิบยื่นให้กับผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพเหล่านั้นให้ได้รับสิทธิพื้นฐาน