สมัยก่อน เวลาพูดถึงทูต คงจะนึกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากข้าราชการกระทรวงต่างประเทศอายุเยอะที่ไปทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับชาติอื่นๆ
แต่ดูเหมือนทุกวันนี้ ภาพของทูตในสายตาของคนทั่วไปได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่าง
น้อย ทูตก็ไม่ได้มีติดต่อกับต่างชาติอย่างเดียว เพราะตอนนี้เมืองไทยเริ่มมีทูตแปลกๆ ผุดขึ้นมาเพียบ ไม่ว่าจะเป็นทูตวัฒนธรรม ทูตกีฬา ทูตยาเสพติด หรือแม้กระทั่งทูตส้วม!!!
แล้วคนที่ต้องมารับบทบาทหนักก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ส่วนใหญ่ขวัญใจเราๆ ท่านๆ นี่เอง โดยเฉพาะดารานักแสดงชื่อดัง ที่ต่างพาเหรดกันมาเป็นตำแหน่งทูต ร่วม 100 คน ชวนให้สงสัยว่าพวกเขาเหล่านั้น มีความสามารถพิเศษอะไร ถึงได้รับแต่งตั้ง หรือจะเป็นเพราะพวกเขามีความเชี่ยวชาญในงาน เช่น หากได้รับแต่งตั้งเป็นทูตส้วมสาธารณะ ก็ต้องแสดงว่าดาราคนนั้นเชี่ยวชาญเรื่องส้วม ถามอะไรรู้หมด และใช้บริการส้วมสาธารณะเป็นประจำ อย่างนี้หรือเปล่า
จากความสงสัยที่มีมากนี้เอง ‘คลิก’ จึงถือโอกาสพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับทูตเหล่านี้ เชิญติดตามได้แล้ว
คำถามถึงท่านทูต
ผศ.ณาณัฏฐ์ธัญ วงศ์บ้านดู่ หัวหน้าภาคสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์เรื่องทูตนี้ว่า จริงๆ แล้วกิจกรรมนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาคือที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการตั้งทูตพวกนี้เยอะเกินไป ทำให้เวลาเห็นกิจกรรมแบบนี้ก็จะรู้สึกไม่ศรัทธา
“ปกติเวลาพูดถึงทูต เรามักนึกถึงตัวแทนประเทศ นึกถึงเอกอัครราชทูต แต่ทูตแบบนี้อีกแบบเลย คำถามแรกที่สงสัยคุณมีมาตรฐานอะไรในการตั้ง ถ้ามองอย่างราชการก็คือ ถ้าคุณจะตั้งอะไรสักตำแหน่ง คุณต้องรู้ว่าขอบเขตหน้าที่การงานของคุณมีอะไรบ้าง แต่นี่ไม่รู้เลย บางคนไม่มีคุณสมบัติเลย ซึ่งพอตั้งเสร็จมันก็จะเกิดคำถามอยู่ในใจของคนรับสารทันทีว่าที่ตั้งมันเหมาะแล้วเหรอ หรือเป็นแค่กระแส เห็นว่าดังก็เลยตั้งเท่านั้นเอง แล้วที่สำคัญคุณได้ไปทำกิจกรรมจริงๆ หรือเปล่า หรือทำแค่ครั้งสองครั้งก็เลิก”
นอกจากนี้ ผศ.ณาณัฏฐ์ธัญ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า หากมองกันจริงๆ สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมไทย ก็คือการมองอะไรอย่างฉาบฉวย สนใจแต่เปลือก ทำงานแบบผักชีโรยหน้า ที่สำคัญยังเป็นการบ่งบอกถึงค่านิยมในสังคมไทยว่าให้ความสำคัญกับคนดัง คนมีชื่อเสียงมากเกินไป
ทำไมต้องมีทูต?
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะอยากรู้แล้วว่า จริงๆ แล้วทูตเหล่านี้มีไว้ทำไม และมีวิธีเลือกคนยังไง คนที่น่าจะให้คำตอบดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นหน่วยงานที่ตั้งนั่นเอง
ฉัฐฐา กีนะพันธ์ ผู้ช่วยงานด้านสื่อองค์การยูนิเซฟ (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงการคัดเลือกทูต ขององค์กรว่า หลักใหญ่ๆ ก็เหมือนกับที่ทั่วโลกเขาใช้กัน เช่น ทูตจะต้องมีความประพฤติดี เป็นแบบอย่างที่ดี มีความมุ่งมั่นในการทำงานที่จะช่วยรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก ที่สำคัญจะต้องไม่มีภาพลักษณ์ขัดแย้งกับองค์กร เช่น ไปโฆษณาเหล้า เบียร์ หรือสิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ โดยระยะเวลาในการเป็นทูตนั้นไม่มีกำหนดที่ชัดเจน เป็นได้เรื่อยๆ เพียงแต่ต้องมาเซ็นสัญญาทุก 1 ปี
สำหรับคุณภาพทูต ฉัฐฐาอธิบายว่า คนที่เป็นทูตต้องทำงานด้วยใจ และมีความเสียสละมากๆ เพราะยูนิเซฟเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเงินมาเป็นสินน้ำใจแก่ทูต หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ทำฟรีนั่นเอง
“หน้าที่หลักของทูต คือต้องช่วยเราโปรโมตเรื่องปัญหาเด็ก ที่สำคัญต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเด็ก ซึ่งการทำงานดังกล่าว ทูตจะต้องเข้าใจรายละเอียดของการทำงานเป็นอย่างดี เพราะเราจะมีกิจกรรมลงพื้นที่ต่างๆ อย่างที่ผ่านมาคุณ แอน ทองประสม ก็เพิ่งไปเชียงใหม่มา”
สำหรับในประเด็นการเลือกทูตที่เป็นดารานักแสดง ฉัฐฐากล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น ใครมาเป็นก็ได้ แต่ขอให้มีความตั้งใจจริงในการทำงาน แต่ที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าทูตที่เป็นคนที่มีชื่อเสียงก็สามารถช่วยงานของยูนิเซฟได้เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องรณรงค์สิทธิเด็ก
“มองว่าสาเหตุที่บ้านเราชอบเลือกดาราเป็นทูต เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ มองว่าคนเหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดมากกว่าอาชีพอื่น เพราะฉะนั้นเขาน่าจะเป็นกระบอกเสียงที่ดี และเข้าถึงคนระดับต่างๆ ได้ง่ายกว่า” ฉัฐฐากล่าวสรุป
เรื่องอย่างนี้มีตัวช่วย!!
จากคำตอบของฉัฐฐาคงเห็นแนวทางของการตั้งทูตขององค์กรระดับนานาชาติบ้างแล้ว ว่ามีมาตรฐานอย่างไร ย้อนกลับมาดูที่องค์กรภายในประเทศเรากันบ้าง ที่เห็นตั้งทูตกันบ่อยๆ คงหนีไม่พ้นบรรดาหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กองทัพ หรือแม้แต่บรรดารัฐวิสาหกิจต่างๆ
ทัศน์สรวง วรกุล นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย อธิบายถึงวิธีการเลือกดารานักแสดงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของหน่วยงานราชการให้เราฟังคร่าวๆ ว่าการคัดเลือกมีอยู่ 2 แบบ ก็คือ หน่วยงานเลือกจากดาราโดยตรงเลย หรือไม่ก็ให้สังกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง ค่ายละครเป็นผู้เสนอชื่อมาให้ จากนั้นค่อยคัดเลือกอีกที ซึ่งบางครั้งเรื่องนี้ก็ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานกับค่าย เนื่องจากหน่วยงานก็จะได้ประชาสัมพันธ์ตัวเอง ขณะที่ค่ายก็จะถือโอกาสนี้ผลักดันศิลปินนักแสดงของตัวเองให้เป็นที่รู้จักของประชาชน และมีภาพลักษณ์ที่ดีมากขึ้น
“พี่มองว่า หน่วยงานต่างๆ คงรู้สึกว่าดาราน่าจะเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่จะช่วยโปรโมตงานต่างๆ และจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย ระดับโลกเขาก็มีกันเยอะแยะ แต่ความต่างอาจจะอยู่ที่เขาอาจจะดูจริงจังกว่า แถมที่ผ่านมา ของเราตั้งมากจนเฝือ ยิ่งรัฐบาลชุดก่อนตั้งเยอะมาก ตั้งจนพี่ปวดหัวเลย คือรู้สึกเบื่อมากที่ต้องทำข่าวพวกนี้”
อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังได้ฝากข้อคิดไปถึงหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนค่ายเพลง ให้ช่วยใส่ใจในเรื่องคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นทูตด้วย อย่างเช่นมีการคัดกรองกันหน่อยว่าดาราคนนั้นเหมาะสมกับงานไหม
“บางทีพวกหน่วยราชการเขาไม่ศึกษาประวัติของคนที่จะเป็นพรีเซ็นเตอร์ อย่างให้คนติดยามาเป็นทูตต้านยา เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เอาที่ไหนมาวัด แต่หลายคนก็โอเคนะ อย่าง ฟิล์ม รัฐภูมิ ที่ได้รับเลือกเป็นทูตที่อยู่อาศัย เขาทำจริง เขาลงไปสร้างบ้าน ไปช่วยสังคมจริงๆ ที่สำคัญยังสามารถพูดถึงโครงการนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน คือดูมีความรู้จริงๆ”
เมื่อดาราต้องเป็นทูต
“ไม่ว่าจะเป็นทูตขององค์กรใด สิ่งสำคัญของการทำงานอยู่ที่ใจ และเข้าใจเกี่ยวกับงานที่ทำว่า เราจะสื่อสารเรื่องอะไรออกไป บวกกับความรู้ที่มีอยู่ จะทำให้คนที่เป็นทูต ทำงานได้ดี” นี่คือคำกล่าวของ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ ซึ่งเพิ่งได้รับเป็นทูตผู้ลี้ภัยฯ คนแรกของประเทศไทย
ไดอาน่าอธิบายกับเราว่าตำแหน่งดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย หรือที่มีชื่อนิกเนมภาษาอังกฤษว่า USCRI (Thailand) โดยในช่วงแรกของการติดต่อ ทางหน่วยได้อธิบายรายละเอียดของการทำงานต่างๆ ให้เธอฟัง เช่น ต้องทำอะไรบ้าง หน่วยงานนี้ทำงานแบบไหน หลังจากได้ฟังไม่นาน เธอก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี จึงตอบตกลงรับเป็นทูตทันที
“ได๋รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 ค่ะ ก่อนวันผู้ลี้ภัยโลกได้วันหนึ่ง สำหรับระยะในการทำหน้าที่ยังไม่ได้ระบุชัด แต่ได๋คิดก็คงจะทำงานต่อเรื่อยๆ จนกว่ายูเอสซีอาร์ไอ จะไม่ต้องการได๋แล้ว (หัวเราะ)”
สำหรับหน้าที่หลักของทูตผู้ลี้ภัยฯ ไดอาน่ากล่าวว่า ต้องเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยแก่ประชาชนคนไทย เพื่อที่ทุกคนจะได้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยนั้นคือใคร ทำไมถึงต้องลี้ภัย
ไดอาน่า ลงพื้นที่ครั้งแรกที่วัดหนองบัว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งที่นั่นมีคนพม่าที่ลี้ภัยเข้ามากว่า 2,000 คน
เธอเล่าบรรยากาศของพื้นที่จริงให้เราฟังว่า “จริงๆ ก่อนลงพื้น ทาง USCRI ก็จะส่งอีเมล์ที่มีรูปภาพของผู้ลี้ภัยมาให้ดูค่ะ แต่พอลงไปในพื้นที่จริงต้องบอกว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น เราเห็นเด็กๆ ที่ใส่เสื้อขาด เนื้อตัวมอมแมมเต็มไปหมดเลย บางคนไม่ใส่กางเกง บางคนมีแผลที่ขา แล้วก็มีผู้หญิงอุ้มท้องอีกหลายคน
“โดยส่วนตัวแล้ว ได๋คิดว่าเด็กก็เปรียบเสมือนผ้าขาวสะอาด จริงๆ พวกเขาควรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่มาวิ่งหนีสงคราม มีคนบอกว่า หากสถานการณ์ที่พม่าสงบลงเมื่อไหร่ พวกเขาก็จะกลับ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ประทับใจเธอมากที่สุดในการเป็นทูตผู้ลี้ภัยฯ ไดอาน่าบอกว่าน่าจะเป็นการที่สัมผัสถึงคุณค่าของการมีชีวิต อย่างคนที่ต้องหนีพาครอบครัวอพยพลี้ภัยมา คนพวกนี้เขาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตมาก เพราะเขายังมีความหวังกับชีวิตอยู่เสมอ แม้ว่าจะต้องผจญเรื่องราวทุกข์ยากแค่ไหนก็ตาม
………
ทุกวันนี้ หลายคนคงรู้สึกชินชา เมื่อได้ยินข่าวแต่งตั้งดาราเป็นทูต เพราะที่ผ่านมา นอกจากแค่เป็นข่าวแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยเห็นทูตเหล่านี้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก ซึ่งจากกรณีนี้ หากจะเรียกหาคนรับผิดชอบ ก็ไม่พ้นหน่วยงานที่เป็นผู้แต่งตั้งทูตไปได้
สำหรับสิ่งที่บรรดาหน่วยงานต่างๆ ควรทำมากที่สุดตอนนี้ ก็คือการทำยังไงก็ได้ ให้ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมา มีค่า มีความเหมาะสม และที่สำคัญก็คือมีงาน มีหน้าที่จริงๆ ไม่ใช่ตั้งเพื่อโปรโมตตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ เพราะการทำแบบนั้น นอกจากจะไม่ได้ภาพที่ดีกลับไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ตกลงคนพวกนี้ ว่างมากหรือยังไง ถึงไม่ยอมทำการทำงาน เอาเวลามาทำแต่เรื่องไร้สาระกันอยู่ได้
***********
เปิดชื่อทูตเด่นประจำเมือง
ไม่ว่าเมืองไทยหรือเมืองนอกก็มีทูตแบบนี้เยอะพอๆ กัน หลายๆ คนคงอยากรู้ใช่ไหมว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นใคร ‘คลิก’ ได้รวบรวมมาเรียบร้อยแล้ว
เริ่มจากเมืองไทย คนแรกที่มีข่าวอยู่ตอนนี้เห็นจะไม่พ้น ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทูตของสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ
ขณะที่ยูนิเซฟ ก็ไม่น้อยหน้า สามารถคว้าตัวอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน และ 2 ดาราชื่อดัง อย่าง แอน ทองประสม และ เคน-ธีเดช วงศ์พัวพันธ์ มาเป็นทูตได้สำเร็จ
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกเพียบไม่ว่าจะเป็น ขวัญ-อุษามณี ไวทยานนท์, โอ๊ต-สุรศักดิ์ โชติทินวัฒน์, ปาล์ม-ชโลธร ชัยชมภู และ ภัทร จึงกานต์กุล ทำหน้าทูตวัฒนธรรมไทย-จีน
ส่วน เอ๊ะ-ศศิกานต์ อภิชาตวรศิลป์ กับ 2 พี่น้องขวัญใจวัยรุ่น กอล์ฟ-พิชญะ และ ไมค์ -พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ก็เป็นทูตมิตรภาพไทย-เกาหลี วงเกิร์ลลี่ เบอร์รี่ เป็นทูต TSCPA หรือสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
วิน-ธาวิน เยาวพลกุล, แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์, เชียร์-ทิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์, เชน-ธนา ลิมปยารยะ, พลอย-ชิดจันทร์ รุจิพรรณ และเป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร เป็นทูตการศึกษา คอยชี้แจงและตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมไปถึงการปฏิบัติตัวที่ดีในรั้วมหาวิทยาลัย
บีม-กวี ตันจรารักษ์ เป็นทูต WWF-World Widelife Fund กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย ทำหน้าที่ปลุกจิตสำนึกให้คนไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม และหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติ
ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ รับหน้าที่ทูตมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ และ พิงกี้-สาวิกา ไชยเดช ก็เพิ่งได้รับเลือกเป็นทูตสิ่งแวดล้อม ของโครงการประหยัดไฟฟ้าระดับมหานคร
ส่วน แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นุ่น-วรนุช วงษ์สวรรค์ และ เบนซ์-พรชิตา ณ สงขลา รับตำแหน่งทูตวัฒนธรรมและรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม รวมไปถึงเป็นพรีเซนเตอร์ในกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงด้วย
และทูตที่โด่งดังที่สุดในไทย เห็นจะไม่มีใครเกิน ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ช่วงช่วงกับหลินฮุ่ย ซึ่งส่งตรงมาจากมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีนมาไว้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น
สำหรับต่างประเทศก็ใช่ย่อย เพราะก็มีอยู่เพียบไม่แพ้สยามเมืองยิ้ม แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ เราจึงได้คัดสรรมาเฉพาะบุคคลที่เด่นดังจริงๆ เท่านั้น
เริ่มที่ แองเจลีนา โจลี ทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเธอทำหน้าที่อย่างจริงจังมาก ถึงขนาดรับเด็กชาวกัมพูชามาเป็นลูกบุญธรรม
ริคกี้ มาร์ติน, เดวิด เบ็คแฮม และ วอนบิน เป็นทูตยูนิเซฟ ขณะที่ มีร่า ซอร์วิโน่ รับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของสหประชาชาติเพื่อช่วย UNODC หรือสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ปฏิบัติหน้าที่ช่วยรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์ยุคใหม่ จอร์จ คลูนีย์, ชาร์ลีซ ธีรอนและไมเคิล ดั๊กลาส เป็นผู้ส่งสารเพื่อสันติภาพ ขององค์กรสหประชาชาติ ปฏิบัติหน้าที่ในการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรง
และที่โด่งดังไปทั่วโลก เห็นจะไม่พ้นรายนี้ โดราเอมอน ทูตสันถวไมตรีเพื่อการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น
*****************
เรื่อง : ทีมข่าวคลิก