xs
xsm
sm
md
lg

NGOค้านรัฐผลาญงบฯอุ้มซาก“โปแตชอาเซียน”-จับตาเบื้องหลังผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ อนุสาวรีย์เหมืองแร่อาเซียนที่รัฐบาลพยายามจะปลุกชีพขึ้นมาอีกครั้ง
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – “ เอ็นจีโอ” ค้านรัฐผลาญงบแผ่นดินภาษีปชช. เข้าอุ้มซากบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียนไม่รู้จบสิ้น จวกดื้อดึงลากแหล่งแร่ จ.ชัยภูมิ คุณภาพต่ำมาทำเองและต้องใช้เงินถมอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน ขณะที่แหล่งแร่คุณภาพดีที่สุดในโลก อุดรฯ-สกลนคร กลับประเคนให้นักลงทุนข้ามชาติ ชี้จับตาเบื้องหลังผลประโยชน์นักการเมืองทั้งใน ก.อุตฯ และ พรรค ปชป.

วันนี้ ( 2 ก.ค.) นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) ผู้ศึกษาติดตามเหมืองแร่โปแตช (POTASH) มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลที่พยายามปลุกผีโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยจะให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ APMC ตามสัดส่วน 20 % วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีประชาชนเข้าไปอุ้มบริษัทดังกล่าว ซึ่งได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในรูปของเอกชนเต็มตัวแล้ว หากมีปัญหาเรื่องเงินทุนดำเนินการก็ควรไประดมทุนจากนักลงทุนเอกชนที่สนใจ ไม่ใช่จะมาเอาเงินรัฐเข้าไปอุ้มอย่างไม่รู้จักจบสิ้นเช่นนี้

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนดังกล่าวในเชิงพาณิชย์แล้วมีความคุ้มค่าทางในการลงทุนต่ำมาก เพราะแหล่งแร่โปแตชแห่งนี้เป็นแร่ชนิด “คาร์นัลไลต์” ที่มีโปแตชเปอร์เซ็นต์ต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมผู้รับผิดชอบโครงการไร้ปัญญาที่จะหาผู้ร่วมทุนหรือแหล่งเงินทุนมาดำเนินการเหมืองแร่ต่อได้ จนกลายเป็นโครงการล้มเหลวตายซากมานานกว่า 30 ปี ผลาญงบไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้แร่โปแตชขึ้นมาใช้แม้แต่เม็ดเดียว และยังต้องการเงินเข้าสนับสนุนโครงการอีกทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

“ ขณะที่สถานะของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน ในขณะนี้ก็ตกอยู่ในสภาพไม่มีรายได้ ไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายเงินเดือนพนักงานมานานแล้ว และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนทั้งเรื่อง EIA และ ประทานบัตรเหมืองแร่ แต่อย่างใด” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า แร่โปแตชชนิด“คาร์นัลไลต์” ในพื้นที่แหล่งแร่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นแร่โปแตชเปอร์เซ็นต์ต่ำ มีปริมาณโพแทสเซียม (K) เพียง 14.07% หรือโพแทสเซียมออกไซด์ (K2O) สูงเพียง 16.95% หรือคิดเป็นโพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) 26.83% เท่านั้น จึงเสี่ยงต่อการลงทุนมากและมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสูงเพราะต้องใช้น้ำในขบวนการแต่แร่จำนวนมหาศาล แต่รัฐบาลกลับดื้อดึงเลือกที่จะนำมาดำเนินการเองตลอดเวลา

ส่วนแหล่งแร่โปแตช พื้นที่ จ.อุดรธานีและ จ.สกลนคร กลับใส่พานประเคนให้บริษัทเอกชนต่างชาติ เอาไปดำเนินการ ทั้งที่แร่โปแตชที่พบในพื้นที่เหล่านี้ เป็นชนิด “ซิลไวต์” ซึ่งเป็นแร่โปแตชที่ดีที่สุดในโลก เพราะมีปริมาณของโปแตสเซียม (K) สูงถึง 52.44% หรือ โปแตสเซียมออกไซด์ (K2O) สูงถึง 63.17% หรือ โปแตสเซียมคลอไรด์ (KCI) 100%

การพยายามปลุกผีโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนครั้งนี้ น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากล เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวเกี่ยวโปแตชดีมากเพราะครอบครัวพ่อแม่ธุรกิจค้าขายเกลือ ที่จ.มหาสารคามมาก่อน และทราบว่าได้ไปโรด์โชว์พบปะนักลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตช ทั้งที่จีนและออสเตรีย มาตลอด แล้วทำไมจึงไม่ดึงเข้ามาร่วมทุนในโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ จ.ชัยภูมิ หรือมุ่งที่จะดึงไปที่โครงการเมืองแร่ของเอกชนที่ จ.สกลนคร ที่มีแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดินร่วมผลักดันอยู่เบื้องหลังมากกว่า

สิ่งที่น่าต้องข้อสังเกตอีกประการสำคัญ คือ เป็นที่รับรู้ในหมู่ของประชาชนชาวชัยภูมิมาตลอด ว่า พื้นที่ตั้งโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีกลุ่มนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งได้มีส่วนผลักดันโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องและล่าสุดได้ย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้น ได้มีการรวบรวมกว้านซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวไว้เป็นจำนวนมาก จึงไม่ทราบว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการพยายามปลุกผีโครงการครั้งนี้หรือไม่ นายเลิศศักดิ์ กล่าว

จับตา 7 เหมืองโปแตชอีสาน

นายเลิศศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่ได้ศึกษาติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตช ในภาคอีสานมาโดยตลอด ล่าสุดพบว่าหลังจากมีการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ฉบับพ.ศ. 2545 ให้สามารถทำเหมืองใต้ดินลึกกว่า 100 เมตรได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน ทำให้มีการยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตชในอีสาน จำนวนถึง 7 โครงการ แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก ประกอบด้วย

1. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ. นครราชสีมา 1 วันที่ 13 พ.ค. 2548 บริษัท เหมืองไทยสินทรัพย์ จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ อ.คง อ.บัวใหญ่ อ.บ้านเหลื่อม อ.ขามสะแกแสง จ. นครราชสีมา 28 แปลง เนื้อที่ 280,000 ไร่

2. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ. นครราชสีมา 2 วันที่ 12 ก.ค. 2548 บริษัท ธนสุนทร (1997) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ ต.ด่านช้าง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา 3 แปลง เนื้อที่ 30,000 ไร่

3. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ขอนแก่น วันที่ 5 ก.ค. 2548 บริษัท กรุงเทพโยธาอุตสาหการ จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช 10 แปลง เนื้อที่ 100,000 ไร่ ในท้องที่ ต.บ้านทุ่ม ต.บ้านหว้า อ.เมือง และ ต.บ้านฝาง ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น

4. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.มหาสารคาม วันที่ 17 ก.ค. 2548 บริษัทไทยสารคามอะโกร โปแตช จำกัด ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช ในท้องที่ ต.หนองเม็ก และ ต.บ่อพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่

5. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร ปี 2519 - 2520 กรมทรัพยากรธรณีเจาะสำรวจแร่ที่ อ.วานรนิวาส อ.พรรณานิคม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พบแร่โปแตชชนิด Carnallite และ Sylvite วันที่ 16 พ.ค. 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่

6. โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ วันที่ 28 ต.ค. 2547 บริษัท APMC ยื่นคำขอประทานบัตรในการดำเนินโครงการฯ ในเขตท้องที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และ ต. ห้วยทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่จำนวน 9,708 ไร่ และช่วงหลังได้ทบทวนขอเปิดพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 40,000 ไร่

และ 7. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี สำรวจแล้วเสร็จไปแล้วและขณะนี้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินแหล่งอุดรใต้ 22,437 ไร่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือกว่า 52,000 ไร่ ในเขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่ ซึ่งปัจจุบันบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาซื้อกิจการดำเนินโครงการอยู่ และพยายามเร่งรัดขั้นตอนการรังวัดปักหมุดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรและโรงงานแต่งแร่
กำลังโหลดความคิดเห็น