อดีตรองประธาน ส.ส.ร.ชี้นักการเมืองขี้โกงทำผิดควรรับผิด อย่าโยนบาปให้ รธน. ย้ำคนร่างไม่ได้ตั้งธงเอาผิดใคร หากทำผิดก็ต้องโดนลงโทษ ประธาน กป.อพช. เผยไม่แปลกใจที่ ปชช.ลุกขึ้นสู้ด้วยลำแข้ง เหตุอำนาจรัฐช่วยสางปัญหาไม่ได้ ขณะที่ “บิ๊กสื่อหางแดง” ระบุสังคมไทยเกิดการแบ่งขั้ว ทุกฝ่ายมุ่งโจมตี “นช.แม้ว” จนลืมปัญหา ศก.-ดับไฟใต้ ด้านลูกกระจ๊อก “เพื่อไทย” ออกโรงป้องนายใหญ่ แนะให้พันธมิตรฯ-นปช.ยอมรับความเห็นต่าง
วันนี้ (25 มิ.ย.) สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาโครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ” ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับทางออกของวิกฤตการเมืองไทย”
นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวว่า ในฐานะคนร่างรัฐธรรมนูญว่า จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คนที่นำไปใช้ เพราะคนที่จะนำรัฐธรรมนูญไปใช้ต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญให้ดีเสียก่อน หากนำไปใช้โดยไม่เข้าใจแล้วมาบอกว่าไม่ได้ทำผิด ทำไมต้องถูกลงโทษ หรือทำไมต้องยุบพรรคกรรมการบริหารที่ไม่ได้ทำผิด ซึ่งคำถาม คือ คนที่ใช้รัฐธรรมนูญไม่ได้อ่านให้ชัดว่า ให้นักการเมืองช่วยกันแก้ปัญหาด้วย แต่นี่ไม่ได้ช่วยแก้ ดังนั้น ก็ต้องว่ากันไปตามกติกา อาทิ ถ้าไม่ใช้มาตรา 237 แล้วจะกลับไปใช้ของเก่า ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ดังนั้น คนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนาจะเอาผิดหรือตั้งธงเอาโทษ หรือกลั่นแกล้งใคร แต่เป็นความรับผิดชอบว่า สิ่งที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง ควรต้องสร้างกติกาขึ้นมา แล้วแก้ปัญหาในสภาพความเป็นจริง
นายเสรีกล่าวต่อว่า ในสังคมไทยเวลาเกิดปัญหาขึ้นมาในการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ไม่มีทางออก หากจะให้นักการเมืองเขียนเองก็ไม่เขียนแบบนี้ คนที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งก็กล้าเขียน แต่เมื่อเขียนไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับเอาบทบัญญัติ เอาวิธีพิจารณาความ เอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญ อย่างที่หลายคนกล่าวถึง ฉะนั้น ตนมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้ บทบัญญัติทางกฎหมายที่รุนแรงกว่าในรัฐธรรมนูญมีหรือไม่นั้น ตนต้องบอกว่ามี อาทิ ปัญหาค้ายาเสพติด ฆ่าคนตาย มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ถามว่าทำไมชาวบ้านส่วนใหญ่ ถึงไม่เดือดร้อน ก็เพราะไม่มีเจตนาตั้งใจจะทำผิด
“เมื่อไม่ได้ตั้งใจทำผิด ต่อให้บทบัญญัติแรงอย่างไรก็ไม่มีผล แต่จะมีผลก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งนักการเมืองต้องเป็นตัวอย่าง ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด เมื่อเป็นกติกาของบ้านเมืองก็ต้องยอมรับ ยิ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ยิ่งต้องยึดถือเป็นหลักให้บ้านเมือง แต่หากไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ แล้วมานั่งแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ ผมคิดว่าไม่ใช่การแก้วิกฤตปัญหา” นายเสรี กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า วิกฤตการเมืองที่เราเผชิญอยู่ คือ ความขัดแย้งของชนชั้นนำที่รู้สึกว่าการเข้าสู่อำนาจของตนเองถูกกดดัน ไม่มีพื้นที่ในการใช้อำนาจ จึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังแก้ไม่ตก อีกประการ คือ วิกฤตการใช้อำนาจของรัฐไทย เพราะที่ผ่านมา รัฐไทยมีการแก้ปัญหาความเป็นธรรมในสังคมได้จริงหรือไม่ ตรงจุดนี้ก็ถือเป็นวิกฤตของประชาชนโดยตรง เนื่องจากจะเห็นได้ว่าเมื่อประชาชนมาเรียกร้องต่อรัฐ เพื่อขอแก้ไขปัญหาให้ อาทิ ราคาพืชผลที่ตกต่ำ ปัญหาที่ดิน ปัญหาหนี้สิน แต่มีเรื่องที่แปลก คือ เกษตรกรไทยมีหนี้สินหลายแสนล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่ง บริษัทที่ทำการเกษตรกลับรวยโดยไม่รู้เรื่อง ดังนั้น นี่ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติในสังคมไทย คำถาม คือ รัฐจะจัดการกับปัญหานี้ จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนถึงลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อสู้ เพราะอำนาจรัฐแก้ปัญหาไม่ได้ หรือแก้ได้แต่ยังดีไม่พอ หรือบางเรื่องก็แก้ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พุ่งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นตัวจัดสรรอำนาจ โดยตนอย่างแนะนำทางออก คือ ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ มาหารือถึงเรื่องวิกฤตการเมืองในสังคมไทยว่าจริงๆ แล้วปัญหาคืออะไร มาตั้งโจทย์ร่วมกัน แล้วค่อยนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ
สำหรับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ มีความพยายามแก้กฎหมาย รวมทั้งรัฐธรรมนูญให้เข้ากับบุคลิก ให้เข้ากับคน เสมือนพยายามตัดรองเท้าให้เข้ากับเท้า จนกลายเป็นปัญหาโลกแตกในสังคมไทย ทั้งนี้ หากพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่ากลายเป็นวิวาทะทางสังคมเสียมากกว่า ถือเป็นช่วงที่คนไทยได้แสดงภูมิความรู้กัน ซึ่งจริงๆแล้วคนไทยมีองค์ความรู้เรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องรัฐธรรมนูญดีมาก แต่พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนไทยไม่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย ดังนั้น การที่มีบางฝ่ายกำลังแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐธรรมนูญเข้ากับวิถีชีวิต แต่ลืมนึกถึงว่าวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่หากคิดอีกมุมหนึ่ง คือ ทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่พยายามปรับพฤติกรรมให้เข้ากับกฎหมาย ให้เข้ากับรัฐธรรมนูญ ถ้าทำเช่นนั้นได้ เชื่อว่าปัญหาจะน้อยลง
“ผมฟันธงเลยว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวเพิ่มวิกฤตของประเทศ เพราะเรามองรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นพระเอก เรามองว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วบ้านเมืองจะสงบ สำหรับผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะถ้าตั้งโจทย์เช่นนั้น บ้านเมืองอาจจะไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งอาจรุนแรงมากกว่าเดิม” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
ด้าน นายบุญเลิศ คชายุทธเดช บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน ตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวว่า ตนคิดว่าสังคมไทยในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา อยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง และอยู่ในกลียุค ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน 2549 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีทั้งคนเจ็บ คนตาย ที่ทั้งหมดเกิดจากความแตกแยก แบ่งขั้วอย่างชัดเจนในสังคมไทย ดังนั้น หากยังติดหล่มความขัดแย้งเช่นนี้อยู่ ปัญหาอาจไม่จบลงง่ายๆ โดยหากหลุดจากความขัดแย้งนี้ไม่ได้ สังคมไทยก็คงไม่ได้เดือดร้อนหรือมีปัญหาแต่เฉพาะทักษิณ พรรคการเมือง หรือเสื้อเหลือง เสื้อแดงเท่านั้น แต่คำถาม คือ เศรษฐกิจที่ทรุดตัวขณะนี้จะฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร หรือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะแก้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ
ขณะที่ นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำถามที่อยากตั้งข้อสังเกต คือ จริงๆแล้วประเทศไทยอยู่ในวิกฤตทางการเมืองจริงหรือไม่ เพราะในความเห็นมองว่าการเมืองไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น อาจมีผลมาจากการบริหารแผ่นดินที่ล้มเหลว หรือการทุจริตคอร์รัปชันที่ชัดเจน จนประชาชนรับไม่ได้ ซึ่งตนคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเรียกเป็นวิกฤตการเมืองมากกว่า
สำหรับรัฐธรรมนูญ 2550 นายประเกียรติกล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะถือเป็นทางออกที่แท้จริงหรือไม่ เพราะยังมีการถกเถียงในหลายประเด็น อาทิ มาตรา 190 ซึ่งที่ผ่านมา มองว่ามาตราดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลของวิกฤตการเมือง แต่ประเทศไทยอาจจะเสียประโยชน์ไปบ้างกับคู่เจรจา แต่ถ้าถามว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำให้เสียประโยชน์หรือไม่ คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะหากพูดตามความจริง ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือว่าดี เพียงแต่มีหลายมาตราและมีละเอียดมากเกินไป เนื่องจากทั้งฝ่ายภาคการเมืองและภาคประชาชนไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น ปัญหาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาทางความคิดอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาในการปฏิบัติด้วย เพราะรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายลูกที่ออกตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ทำให้คนทะเลาะกัน เป็นเรื่องการจ้องจับผิดกันไม่มีวันจบ ฉะนั้น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เรื่องหลัก คือ เราจะยอมรับกติกากันมากน้อยแค่ไหนมากกว่า
ส่วน นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้แทนฝ่ายพลเมือง กล่าวว่า ก่อนที่จะวิเคราะห์ปัญหาและนำไปสู่การแก้ปัญหา ต้องทำใจเป็นกลาง ถึงตนจะอยู่กลุ่มคนเสื้อแดง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าข้างคนเสื้อแดงทั้งหมด และไม่ได้มองพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นศัตรู เพราะถ้าหากทำใจไม่เป็นกลาง ย่อมไม่มีทางที่จะมองปัญหาออก และไม่สามารถเสนอทางออกได้เช่นกัน สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงของการเมืองไทย แต่ปัญหาจริงๆ เกิดจากการเผชิญกับวิกฤตทางสังคมที่นำไปสู่วิกฤตการเมือง และนำไปสู่ปัญหารัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ตนว่าไม่ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ แต่ให้แก้ที่สังคมไทย ซึ่งต้องมีการพิจารณาว่าปัญหา คือ ความคิดที่แตกต่างของคน 2 กลุ่ม
นายสุรชัยกล่าวต่อว่า กลุ่มหนึ่งคือ พวกทุนโลภาภิวัตน์ที่ต้องการพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า ส่วนอีกกลุ่ม คือ พวกอนุรักษ์นิยม ที่อยากให้สังคมหยุดนิ่งถอยหลัง เป็นความขัดแย้งของ 2 แนวความคิด ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มใหญ่ในประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ ความขัดแย้งระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่
“ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ล้วนแล้วแต่เป็นหญ้าแพรกเล็กๆ ฉะนั้น จะแก้เหลืองหรือแดง แก้ไม่ตกหรอก เพราะที่ผ่านมาผู้รู้หลายคนบอกว่า ปัญหาอยู่ที่ทักษิณคนเดียว หยุดทักษิณได้ ปัญหาทุกอย่างจบ แต่ผมถามว่าทำไมทักษิณยุบสภา ถูกพิพากษาติดคุก หรือไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ทำไมปัญหาต่างๆ ยังไม่จบ ดังนั้น วันนี้ต้องแก้ที่คู่ขัดแย้งหลักด้วยการเจรจา โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องยอมรับว่า โลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยต้องเปลี่ยนเช่นเดียวกับสังคมโลก เมื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ก็ค่อยๆ ประคับประคองแบบค่อยเป็นค่อยไป” นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัยกล่าวอีกว่า ต้องมาเริ่มแก้ที่ปัญหาสังคมก่อน โดยจัดระบบเศรษฐกิจให้มีความธรรม ไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยสุดกับคนจนติดดิน ถ้าแก้ได้ตรงนี้ได้ การแก้ปัญหาการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก