xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “ตลาดกลางยางพารา” แห่งแรกอีสานที่บุรีรัมย์ - รมช.เกษตรฯโอ่เตรียม 8,000 ล.ไว้พยุงราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.กระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเปิด “ตลาดกลางยางพารา” เป็นแห่งแรกของภาคอีสาน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.บุรีรัมย์ วันนี้( 29 มิ.ย.)
บุรีรัมย์ - “ศุภชัย โพธิ์สุ” รมช.เกษตรฯ เป็นประธานเปิด “ตลาดกลางยางพารา” แห่งแรกภาคอีสาน ที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อรองรับผลผลิตยางอีสานเพิ่มต่อเนื่องล่าสุดมีพื้นที่ปลูกกว่า 2.3 ล้านไร่ให้ผลผลิตแล้ว 5 แสนไร่ เผยช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง-เพิ่มอำนาจต่อรองแก่เกษตรกรแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ระบุรัฐบาลอนุมัติงบกลางให้ ก.เกษตรฯ กว่า 8,000 ล้าน เตรียมช่วยเกษตรกรพยุงราคายางหากตกต่ำ

วันนี้ (29 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิด “ตลาดกลางยางพารา” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งแรกของภาคอีสาน เพื่อรองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดกว่า 2,300,000 ไร่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งขณะนี้ได้ให้ผลผลิตแล้วกว่า 500,000 ไร่

โดยจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสาน คือ จ.หนองคาย เนื้อที่ปลูกกว่า 7 แสนไร่ รองลงมา คือ จ.บุรีรัมย์ มีพื้นที่ปลูกกว่า 2 แสนไร่

นอกจากนี้ การเปิดตลาดยางพาราดังกล่าว ยังเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลผลิตยางนำไปขาย ให้กับผู้รับซื้อยังต่างจังหวัด ทั้งเพื่อเป็นการต่อรองราคากับผู้ซื้อโดยผ่านการประมูลให้ยางมีราคาสูงขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำให้กับเกษตรกรในอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนั้น ภายในศูนย์วิจัยฯ ยังได้เปิดศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มาศึกษาดูงาน เพื่อจะได้นำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งได้มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราคาในทุกอำเภอมาร่วมในงานดังกล่าวกว่า 1,500 คน

นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่า 8,000 ล้านบาท เพื่อไว้แทรกแซงราคายางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหากยางมีราคาตกต่ำ

“อย่างไรก็ตาม จากที่เกษตรกรอ้างว่าหากราคายางต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ถือว่าไม่อยู่ที่จุดคุ้มทุนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นทุนของเกษตรกรนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 26 บาทเท่านั้น ดังนั้นราคายางในท้องตลาดขณะนี้ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 48-52 บาท เชื่อว่าเกษตรกรอยู่ได้ไม่ขาดทุน” นายศุภชัย กล่าว

ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทั้งประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกยางพารากว่า 13 ล้านไร่ มีผลผลิตกว่า 2.4 ล้านตัน ในแต่ละปีสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งผลผลิตยางพาราในเขตพื้นที่ภาคอีสานมีคุณภาพดีไม่แตกต่างจากภาคใต้ และจากการสำรวจพบว่าภาคอีสานสามารถปลูกยางได้มากถึง 5 ล้านไร่ แต่ขณะนี้มีเกษตรกรปลูกไปแล้วกว่า 2 ล้านไร่เท่านั้น พื้นที่เหลือยังสามารถปลูกได้อีกประมาณ 3 ล้านไร่

“หากปลูกเต็มพื้นที่ เชื่อว่า จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ และประชาชนในเขตพื้นที่ภาคอีสานไม่ต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน ไปรับจ้างกรีดยางยังจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นได้ในอีกทางหนึ่งด้วย” นายสมชาย กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น