ตาก - UN.จัดงานวัน World Refugee Day เพื่อให้ทั่วโลกได้รับรู้ภาพที่สะท้อนถึงปัญหาผู้อพยพ ที่ชายแดนไทย-พม่า นำภาพถ่ายการคุ้มครอง-ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยขึ้นกระดานแสดงให้ผู้สนใจดูระหว่าง 24-25 มิ.ย.นี้
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ที่ชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จ.ตาก UN ได้จัดงานวันผู้ลี้ภัยโลกหรือ World Refugee Day เพื่อรำลึกถึงสภาพปัญหาผู้ลี้ภัย และบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยทั่วโลก โดยได้กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกถึงสภาพปัญหาของบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยเหล่านี้ และคำขวัญประจำวันผู้ลี้ภัยโลกสำหรับปีนี้ คือ “Real People Real Needs”
การจัด World Refugee Day ที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอดนั้น ทางสำหนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCRภาคสนาม ประจำอำเภอแม่สอด ได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า จังหวัดตากได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการเรื่อง “สภาพปัญหาผู้ลี้ภัย” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยรวมถึงประชาชานทั่วไป ได้เข้ามารับชม
โดยนิทรรศการดังกล่าวจะจัดแสดงภาพถ่าย โปสเตอร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2552
รายงานข่าวแจ้งว่า วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ความจริงแล้วจะตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี และสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” เริ่มครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2001 ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีวันผู้ลี้ภัยโลกนี้ แต่ละประเทศหรือระดับภูมิภาคจะมีวันผู้ลี้ภัยโลกของตนเอง บางที่ก็จัดเป็นสัปดาห์ผู้ลี้ภัยโลกขึ้นเลยก็มี ที่รู้จักกันกว้างขวางมากที่สุดก็คงเป็น Africa Refugee Day ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทวีปแอฟริกา ที่มีจำนวนประชากรผู้ลี้ภัยอยู่มากที่สุดในโลก
โดย Africa Refugee Day จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันในสภา (resolution 55/76) ที่ประชุมเห็นว่าในปี 2001 เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย ซึ่งประกาศใช้ในปี 1951 เป็นจังหวะเดียวกับทาง Organization of African Unity ก็เห็นด้วยที่จะให้มีวันผู้ลี้ภัยโลกขึ้นให้พ้องกับวันผู้ลี้ภัยของแอฟริกา ในที่สุดที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติก็ประกาศให้วันที่ 20 มิถุนายน ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นไป เป็น World Refugee Day และขยายไปทั่วโลก รวมทั้งผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ที่แนวชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดตากและจังหวัดอื่นๆที่ติดต่อกับพม่า ซึ่งมีผู้อพยพตามศูนย์พักพิงผู้หลบหนีภัยสู้รบ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง-บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ และ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตากกว่า 200,000 คนหรือมากกว่านั้น