สุรินทร์ - คณะสัตวแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลช้างสุรินทร์ ใส่เฝือกขาขวาหน้าช้าง “พังกำไล” ที่หักแล้วพร้อมให้สารน้ำพลาสม่าเพื่อชดเชยเลือดและเนื้อบางส่วนที่สูญเสียไปจากการบาดเจ็บ เผยล่าสุดอาการทั่วไปยังทรงตัวแต่อาการบวมที่ได้รับแรงกระแทกตามตัวลดลง เตรียมสร้างสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อรักษาช้างด้วยวารีบำบัด
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า อาการบาดเจ็บของช้าง “พังกำไล” หรือ “พังแต๋น” อายุ 10 ปี จากหมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ประสบอุบัติเหตุรถบรรทุกตกเขาที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ขาหน้าหักเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาและถูกนำมารักษาอยู่ที่ “สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์” หรือโรงพยาบาลช้างจังหวัดสุรินทร์ พร้อมระดมสัตวแพทย์ทั้งคณะสัตวแพทย์พระราชทานของสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ ,สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัย มูลนิธิ และหน่วยต่างๆ เข้าช่วยเหลือชีวิตช้างพังกำไล อย่างเต็มที่นั้น
ล่าสุด วันนี้ (3 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 6 ที่ช้างพังกำไลเข้าทำการรักษาอยู่ที่สถาบันวิจัยฯ อาการทั่วไปยังคงทรงตัว แต่อาการบวมบริเวณที่ได้รับแรงกระแทกตามตัวลดลงไปบ้าง ช้างพังกำไลมีสีหน้าที่สบายมากขึ้นกว่าทุกวัน โดยมี นายสมศักดิ์ ศาลางาม ควาญช้างอยู่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด คอยพูดจาเรียกชื่อพังกำไลอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเรียกชื่อว่า “พังแต๋น” เพราะเป็นชื่อที่ช้างคุ้นเคยเมื่อได้ยินเรียกชื่อ “แต๋นๆ” ช้างจะมีอาการผ่อนคลายไม่หวาดกลัวและเป็นมิตรกับผู้เรียก
ทั้งนี้ เมื่อคืนที่ผ่านมา ควาญช้างได้มากางเต็นท์นอนใกล้ๆกับพังแต๋น ทำให้ช้างรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและอบอุ่นเมื่อควาญช้างอยู่ใกล้ ซึ่งสัตวแพทย์ได้แนะนำให้ควาญช้างมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และหมั่นพูดคุยกับพังแต๋นเพื่อเป็นการบำบัดด้านจิตใจของช้างไปด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเย็นเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) คณะสัตวแพทย์พระราชทาน สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างเฝือกไฟเบอร์แล้วเสร็จและนำมาใส่ขาขวาหน้าที่หักให้พังกำไลแล้ว พร้อมได้นำยาตัวใหม่ที่เพิ่งได้รับมาเป็นสารน้ำพลาสม่าให้กับช้างทางเส้นเลือด เพื่อชดเชยเลือดและเนื้อบางส่วนที่สูญเสียไปจากการบาดเจ็บซึ่งจะทำให้ช้างมีร่างกายแข็งแรงขึ้น ส่วนสเต็มเซลล์ที่ฉีดเมื่อเวลา 17.00 น.เมื่อวานที่ผ่านมาจะออกฤทธิ์ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังฉีดเข้าไป
นอกจากนั้น ในวันนี้ (3 มิ.ย.) ทางคณะแพทย์พระราชทานของสถาบันวิจัยฯ จะทำการออกแบบเพื่อสร้างสระน้ำขนาดใหญ่กว่าตัวช้างเพื่อใช้การบำบัดรักษาช้างด้วยวิธีวารีบำบัด ต่อไป
ขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ ได้นำนักศึกษาสัตวแพทย์ ชั้นปีที่ 6 ที่ใกล้จบการศึกษาเข้ามาปฏิบัติงานช่วยเหลือ คณะสัตวแพทย์พระราชทานของสถาบันวิจัยฯ ทำให้คณะสัตวแพทย์พระราชทานได้มีเวลาผักผ่อนมากขึ้น