สุรินทร์ - แพทย์เผยอาการช้าง “พังกำไล” ดีขึ้นกว่าทุกวันที่ผ่านมา แต่ต้องระวังอาการอักเสบภายใน เผย เร่งก่อสร้างสระน้ำขนาดใหญ่เท่ากับตัวช้างเพื่อรักษาแบบวารีบำบัด ส่วนผลการรักษาด้วยวิธีสเต็มเซลล์ต้องรอผลตรวจที่ชัดเจนใน 2 สัปดาห์ เผย ใช้เครน 2 ตัวยก “พังกำไล” ล้างบาดแผลทายาและเอาเนื้อที่ตายออก พร้อมให้ช้างได้ผ่อนคลายเปลี่ยนอิริยาบถ
วันนี้ (4 มิ.ย.) ส.พญ.ภัทร เชื้อพลายเวช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์ หรือ โรงพยาบาลช้าง จ.สุรินทร์ เปิดเผยความคืบหน้าในการรักษาช้างพังกำไล ของคณะสัตวแพทย์พระราชทาน สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ ว่า อาการของช้างพังกำไล ในวันนี้ดีขึ้น กว่าช่วงที่ผ่านมา ช้างมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างมากขึ้น ผลการตรวจเลือดดีขึ้น ช้างกินอาหาร กินน้ำได้ แต่ต้องระวังอาการอักเสบภายใน สัตวแพทย์ได้ตัดเอาเนื้อช้างบริเวณบาดแผลไปตรวจหาเชื้อโรคยังห้องปฏิบัติการเพื่อให้สามารถให้ยาที่ถูกต้องในการรักษา พร้อมทั้งเร่งก่อสร้างสระน้ำที่มีขนาดเท่ากับตัวช้าง เพื่อใช้วิธีรักษาแบบวารีบำบัด ซึ่งจะต้องเร่งลงมือในการก่อสร้าง
สำหรับผลของการรักษาด้วยวิธีสเต็มเซลล์ จะต้องรอผลการตรวจเลือดว่ามีค่าของเลือดที่ดีขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน ซึ่งต้องใช้เวลา 48 ชั่วโมง หรือหลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ โดยที่ผ่านมาการรักษาม้าด้วยวิธีสเต็มเซลล์ จะปรากฏผล 2 อย่าง คือ ม้ามีอาการดีสดชื่นร่าเริงอย่างทันท่วงที หรืออาจดีขึ้นแต่ม้าอาจนอนพักผ่อน หรือมีอาการซึม ซึ่งทางสัตวแพทย์ต้องรอตรวจผลที่ชัดเจนภาย ใน 2 สัปดาห์ และนอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสเต็มเซลล์ ที่ห้องแล็บ แต่ไม่ยืนยันว่าจะทำได้แค่ไหน เพราะยังไม่มีอาหารใดๆ ที่จะใช้เลี้ยงสเต็มเซลได้ ก็ฝากความหวังไว้กับอาจารย์ที่ห้องแล็บ ในการเพาะสเต็มเซลล์ช้างพังกำไล ขึ้นมาอีก
ส.พญ.ภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ทางคณะสัตวแพทย์ยังได้ใช้เครนไฮดรอลิก ของทหารช่างกองพลทหารราบที่ 6 กองทัพภาคที่ 2 กับเครนของโรงพยาบาลช้างสุรินทร์ ยกช้างพังกำไลให้ยืนขึ้น เพื่อทำการล้างบาดแผลที่บริวเณขาหน้าช้ายเอาเศษเนื้อที่ตายออก และไม่ให้ช้างนอนกดทับเนื้อส่วนขาซ้ายมากเกินไป พร้อมล้างบาดแผลส่วนอื่นๆ ตามตัวช้างและทายาฆ่าเชื้อ
รวมทั้งเป็นการให้ช้างได้ผ่อนคลายเปลี่ยนอิริยาบถ ในการนอน และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ซึ่งช้างพังกำไล มีท่าทางผ่อนคลายและใช้เท้าหลัง 2 ข้างรับน้ำหนักตัวได้ดี ช้างกินอาหารที่เป็นกล้วย และแตงโมได้ดี ดื่มน้ำได้ ส่วนอาหารที่เป็นต้นอ้อยยังไม่กิน เพราะต้นอ้อยแข็งเกินไป จะเลือกกินอาหารอ่อนๆ ซึ่งอาการโดยรวมเป็นที่พอใจของคณะสัตวแพทย์พระราชทานที่ทำการรักษา