xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จับมือ "ไบโออีเดน" วิจัยสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมเพื่อการรักษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล
อดีตนักวิจัยมหิดล เปิดบริษัทรับจัดเก็บเสต็มเซลล์จากฟันน้ำนมแห่งแรกในเอเชีย ร่วมกับ สนช. ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ ในการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์จากฟันเพื่อยืนยันงานวิจัยในต่างประเทศ พร้อมพัฒนากระบวนการจัดเก็บให้ได้สเต็มเซลล์จากฟันมากและมีประสิทธิภาพสูงสุด เผยฟันจะเป็นแหล่งสเต็มเซลล์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ในอนาคตหวังใช้รักษาโรคทางสมองและอื่นๆ ที่ยังไม่มีทางรักษา

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.51 ที่ผ่านมา บริษัท ไบโอดีเดน เอเชีย จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในโครงการการพัฒนากระบวนนการคัดแยกและเพาะเลี้ยงมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ (Mesenchymal Stem Cell) จากฟันน้ำนมและฟันคุด เพื่อศึกษาวิจัยศักยภาพของสเต็มเซลล์จากฟันสำหรับการรักษาในอนาคต

รศ.ดร.นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไบโออีเดน เอเชีย จำกัด เปิดเผยต่อสื่อมวลชนและผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์มีศักยภาพสามารถเพิ่มจำนวนและพัฒนาไปเป็นเนื่อเยื่อต่างๆ ได้ จึงเป็นที่สนใจที่จะนำมารักษาโรคต่างๆ ที่ยังไม่มีวิธีการรักษา โดยทั่วไปสเต็มเซลล์ได้มาจากไขกระดูก เลือด และเลือดจากสายสะดือของทารกแรกเกิด

กระทั่งเมื่อหลายปีก่อน สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยและค้นพบสเต็มเซลล์ในฟันน้ำนม ฟันกราม และฟันคุด โดยเฉพาะมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นสเต็มเซลล์ชนิดที่พบในไขกระดูกด้วยเช่นกัน แต่ในไขกระดูกมีสเต็มเซลล์ชนิดดังกล่าวอยู่น้อยมาก และเพาะเลี้ยงยากมาก แต่พบมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ในฟันน้ำนม ในปริมาณมาก และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมากกับมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์จากไขกระดูก

"มีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์ เป็นสเต็มเซลล์ชนิดที่มีศักยภาพมากที่สุด รองจากสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน และสามารถเพาะเลี้ยงต่อยอดไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ เช่น กระดูกอ่อน กระดูกฟัน เซลล์ตับอ่อน และจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมมีความเป็นไปได้ในการรักษาโรคกระดูก ข้อเสื่อม เบาหวาน และโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะความผิดปรกติทางสมองตั้งแต่แรกเกิด" รศ.ดร.นพ.กำพล อธิบาย
ทั้งนี้ เขาได้อธิบายต่อว่า ข้อได้เปรียบของสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนม และฟันคุดนั้น จะเก็บหลังจากที่ฟันน้ำนมหลุดหรือผ่าตัดเพื่อเอาฟันคุดออก และสามารถเก็บได้หลายครั้งจากหนึ่งคน

ที่สำคัญฟันอาจเป็นแหล่งของสเต็มเซลล์ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดด้วย
เพราะเก็บสเต็มเซลล์จากฟันที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในการรักษาแก่เจ้าของฟันในอนาคต ขณะที่สเต็มเซลล์จากสายสะดือจะเก็บได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนสเต็มเซลล์จากไขกระดูกและเลือดมีวิธีการเก็บยากกว่า และเก็บจากคนหนึ่งเพื่อนำไปใช้กับอีกคนหนึ่ง จึงมีปัญหาในเรื่องของความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ

รศ.ดร.นพ.กำพล ซึ่งเคยเป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์อยู่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า บริษัท ไบโออีเดน เอเชีย จำกัด เป็นบริษัทของคนไทย และเป็นแห่งแรกในเอเชีย ที่ให้บริการในการจัดเก็บมีเซ็นไคมอลสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมและฟันคุด เพื่อนำไปใช้ในการรักษาโรคสำหรับผู้เก็บในอนาคต โดยเปิดทำการมาแล้วประมาณ 1 ปี และล่าสุดได้ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สนช. จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการจัดเก็บและเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์จากฟันให้ได้ปริมาณมากและมีประสิทธิภาพสูงสุด

รวมทั้งศึกษาความแตกต่างของสเต็มเซลล์ที่ได้จากฟันซี่ต่างๆ อายุของฟัน และอายุของเจ้าของฟัน โดยได้ร่วมมือวิจัยกับคณะทันตแพทย์จาก 3 สถาบัน, โรงพยายาลและคลินิกทันตกรรมของภาครัฐอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตั้งเป้าเก็บตัวอย่างสเต็มเซลล์จากฟันเพื่องานวิจัยให้ได้ปีละ 600 ซี่ และศึกษาการนำไปใช้รักษา โดยนำร่องด้วยโรคปริทนต์อักเสบ แล้วจึงขยายผลวิจัยไปยังโรคต่างๆ.
ดร.เพชรินทร์ ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บ.ไบโออีเดน เอเชีย จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น