ผลงานวิจัยเปลี่ยนสเต็มเซลล์ผิวหนังให้เป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของ ศ.ชินยะ ยามานากะ ได้สิทธิบัตรใบแรกของโลกในด้านสเต็มเซลล์ นักวิจัยสุดปลื้ม เผยจะมุ่งมั่นสานต่องานวิจัยให้ใช้รักษาได้จริงอย่างสุดความสามารถ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามหาวิทยาลัยเกียวโต ได้รับสิทธิบัตรจากผลงานวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ของศาสตราจารย์ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) และนับเป็นสิทธิบัตรแรกของโลกที่มอบให้กับผลงานวิจัยทางด้านสเต็มเซลล์
เมื่อปลายปี 2550 ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่นำโดย ศ.ยามานากะ และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) เมืองเมดิสัน สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบวิธีการเปลี่ยนสเต็มเซลล์จากผิวหนังให้มีคุณสมบัติเหมือนกับสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนได้
ไม่เพียงสร้างความฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์ แม้แต่สำนักวาติกัน (Vatican) และนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยินดีกับผลงานดังกล่าวด้วย เพราะเป็นหนทางหลีกเลี่ยงการฆ่าตัวอ่อนมนุษย์เพื่องานวิจัยสเต็มเซลล์
ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มอบสิทธิบัตรผลงานเรื่องดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยต่อยอดสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมในอนาคต และเพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นกระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดผลงานวิจัยเพื่อแสวงหาผลกำไรให้ตัวเอง ซึ่งนับว่านี่เป็นสิทธิบัตรแรกของโลกที่ให้กับผลงานเรื่องสเต็มเซลล์
ด้าน ศ.ยามานากะ เผยอย่างดีใจและภูมิใจกับสิทธิบัตรนี้ว่า สิทธิบัตรนี้ถือเป็นก้าวแรก และบอกอีกว่าเขาจะมุมานะและพยายามศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไปอีกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สามารถนำไปใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยได้จริงๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ นักวิจัยทั่วโลกต่างเชื่อว่าสเต็มเซลล์มีศักยภาพสามารถพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน จึงพยายามศึกษาเรื่องนี้เพื่อพัฒนาให้สามารถนำมารักษาโรคที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ เช่น มะเร็ง เบาหวาน หรือใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับความเสียหายจากเหตุต่างๆ.