เชียงราย – เกษตรกรชาวนาเชียงรายฮึ่ม เตรียมตัวปิดถนนซ้ำ หลัง 10 โรงสีในโครงการรับจำนำข้าวปิดรับจำนำก่อนกำหนด ทั้งที่เป็นต้นฤดูข้าวนาปรัง อ้างรับข้าวเข้าเต็มโควตาแล้ว
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย ที่ปลูกข้าวนาปรังและขนไปรับจำนำกับโรงสี 2 แห่งที่อยู่ในโครงการรับจำนำของรัฐบาลต่างประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากโรงสีข้าวแต่ละแห่งต่างแจ้งปิดรับซื้อตามโครงการรับจำนำแล้ว ทำให้ชาวนาจำเป็นต้องนำออกขายตามท้องตลาดในราคาถูก ทำให้กลุ่มแกนนำเกษตรกรหลายคน ซึ่งเคยมีบทบาทในการออกมาเคลื่อนไหวจนถึงขั้นปิดถนนหลายแห่งทั้งสายเชียงแสน-แม่จัน /แม่จัน-เมือง และพาน-พะเยา ต่างรวบรวมรายชื่อเกษตรกรกันยกใหญ่เพื่อเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ขยายการรับจำนำ
นายบุญแต่ง ธรรมสาร แกนนำกลุ่มเกษตรกรใน อ.แม่สาย เปิดเผยว่า เดิมรัฐบาลกำหนดว่าจะรับจำนำข้าวนาปรังในพื้นที่จำนวนประมาณ 250,000 ตัน แต่ปรากฏว่าหลังจากข้าวนาปรังของเกษตรกรออกสู่ตลาดได้เพียง 10% หรือเป็นเพียงช่วงต้นฤดูกาลปรากฏว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาลทั้ง 10 แห่งต่างประกาศงดรับซื้อกันโดยถ้วนหน้าแล้วโดยอ้างว่าได้รับข้าวนาปรังจนเต็มโควตารับจำนำแล้ว ทำให้ชาวนาประสบความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะพึ่งจะเป็นช่วงต้นฤดูกาลก็ต้องขายข้าวในราคาถูกกันแล้ว ทั้งๆที่มีโครงการรับจำนำ และภาครัฐก็มีเวลาเตรียมตัวมายาวนานเพราะมีประสบการณ์จากเหตุการณ์เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา
นายบุญแต่ง กล่าวว่า ราคาข้าวนาปรังทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 7,000-8,300 บาท แล้วแต่ความชื้นแต่ส่วนใหญ่จะมีความชื้นตั้งแต่ 25-30% เพราะเป็นการเกี่ยวด้วยเครื่องและพร้อมจำหน่ายทันทีโดยไม่ได้ตากทำให้ราคาตกต่ำขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงทำให้อยู่ไม่ได้ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาและโควตาการรับจำนำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกรคือให้มีการรับจำนำไปจนถึงเดือน ก.ค.2552 นี้ด้วย
แกนนำกลุ่มเกษตรกร อ.แม่สาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมกลุ่มแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการเจราจากับหลายฝ่าย เช่น เกษตรอำเภอ พาณิชย์จังหวัด ฯลฯ แต่หากไม่ได้ผลก็จะรวมตัวกันไปปิดถนนพหลโยธินสายแม่จัน-เชียงราย บริเวณศาลเจ้ากิ่วทัพยั้ง ต.แม่จัน อ.แม่จัน เหมือนปีที่ผ่านมาเพราะพวกเราประสบความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้ จ.เชียงราย ได้จัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การค้าภายใน ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ฯลฯ กับกลุ่มเกษตรกร และแจ้งข้อกำหนดเบื้องต้นว่าจะรับจำนำข้าวจ้าว 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเหนียวคละความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 9,000 บาท แลข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาวความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 10,000 บาท แต่หากความชื้นทุกประเภทมากก็ลดหลั่นราคาไปตามลำดับ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรต้องการให้รับซื้อที่ความชื้น 15% ตันละ 14,000 บาท และข้าวจ้าวความชื้น 15% ตันละ 16,000 บาท แต่หากมีความชื้นมากกว่านี้ราคาก็จะลดลงตามสัดส่วน ทั้งนี้ได้กำหนดโควตาเอาไว้ 250,000 ตันหรือรับจำนำไปจนถึงเดือน ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลุ่มเกษตรกรใน จ.เชียงราย ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลให้เปิดรับจำนำตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.หลังเวลานี้ให้หยุดรับแต่ให้รถที่เข้าคิวรออยู่แล้วเข้าร่วมไม่เกิน 20.00 น.เมื่อเกิดการคั่งค้างให้แจ้งรถเกี่ยวข้าวให้หยุดเกี่ยวเพื่อไม่ให้แออัด ให้เพิ่มระดับสิ่งเจือปนจาก 2% เป็น 5% ให้เพิ่มโควตาการรับจำนำทั้งจังหวัดจากเดิม 250,000 ตัน ก็ให้รับผลผลิตไปจนจบฤดูการเก็บเกี่ยวโดยไม่กำหนดระยะเวลา ให้เพิ่มจำนวนโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำจากเดิมกำหนดเอาไว้แค่ 10 แห่งทั้งจังหวัด ให้ชำระเงินให้กับเกษตรกรภายในเวลาไม่เกิน 3 วันหลังจำนำ และให้มีการส่งตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการรับจำนำจุดละ 4 คน โดยที่จุดวัดความชื้นและต้องวัดความชื้นได้ถึง 3 ครั้งโดยเกษตรกรเองจนกว่าจะพอใจ ส่วนค่าแรงของตัวแทนเกษตรกรให้จ่ายวันละ 300 บาทต่อคนต่อวันโดยให้ทางราชการสนับสนุน แต่ปรากฎว่าก็เกิดปัญหาขึ้นในที่สุดดังกล่าว
รายงานข่าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวแจ้งว่าสาเหตุที่โรงสีต่างๆ งดรับจำนำตามโครงการในช่วงนี้เนื่องจากรอมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำ เนื่องจากรัฐบาลจะนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันพุธที่ 3 มิ.ย.นี้ก่อน เมื่อมาตรการออกมาอย่างไรจึงค่อยปฏิบัติกันตามแนวทางนั้นดังนั้นจึงไม่ใช่เกิดจากโควตาเต็มแต่อย่างใด