รมช.พาณิชย์ เตรียมรายงานสถานการณ์จำนำข้าว-ความเดือดร้อนของชาวนา ต่อที่ประชุม ครม.พรุ่งนี้ หลังโรงสีหยุดซื้อ พ่อค้าคนกลางฉวยโอกาสกดราคา
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันที่ 3 มิถุนายน 2552 (พรุ่งนี้) กระทรวงพาณิชย์ จะรายงานสถานการณ์การรับจำนำข้าวนาปรัง และความเดือดร้อนของชาวนาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังรับรายงาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะเรียกประชุมคณะทำงาน เพื่อให้ได้ข้อสรุปการรับจำนำดังกล่าวให้เร็วที่สุด สำหรับแนวคิดการช่วยเหลือสินค้าเกษตรจากการรับจำนำ เป็นการประกันราคานั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และแนวคิดการประกันราคามาใช้เวลานี้ ถือว่าเร็วเกินไป คงต้องรอการหารือจากกระทรวงและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องก่อน
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนจะมีการรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่มหรือไม่นั้น ตามแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์เคยดำเนินการมา ไม่เคยหยุดการรับจำนำ ที่ผ่านมา ทั้งข้าวโพดและมันสำปะหลังมีการเพิ่มปริมาณการรับจำนำมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในส่วนของปริมาณการรับจำนำข้าวที่เหลือขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างตรวจสอบ
โดยวานนี้ นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้พิจารณาเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า ขณะนี้ โรงสีได้ปิดรับจำนำข้าวโดยไม่แจ้งให้รู้ล่วงหน้า ทำให้ชาวนาเดือดร้อนมาก ไม่สามารถนำข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเข้ารับจำนำได้ และเมื่อนำไปขายในท้องตลาดก็ถูกพ่อค้าฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ โดยให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 30% เพียงตันละ 6,000-7,000 บาท ต่ำกว่าราคารับจำนำที่ตันละ 10,800-12,000 บาท
“ข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเอาเข้าโครงการไม่ได้ แถมเอาไปขายในตลาดก็แทบจะขาดทุน เพราะตอนนี้รับซื้อกันแค่ตันละ 6,000-7,000 บาท ขณะที่ต้นทุนค่าปลูกอยู่ที่ไร่ละ 5,000-6,000 บาท ถ้ารวมค่าเช่าที่ดินก็แทบไม่เหลืออะไร จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยทางกลุ่มชาวนา 40 จังหวัดที่ปลูกข้าวจะรอคำตอบ หากไม่ได้รับคำตอบหรือแนวทางช่วยเหลือ จะนำคาราวานเกษตรกร รถอีแต๋นเดินทางมาหานายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแน่”
นายวิเชียร กล่าวว่า ผลผลิตข้าวนาปรังรอบนี้อยู่ที่ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก แต่รัฐบาลเพิ่งเปิดรับจำนำแค่ 4 ล้านตัน ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เปิด 5-6 ล้านตัน ทำให้ข้าวในตลาดจะเหลือถึง 3 ล้านตัน รัฐจึงน่าขยายเพิ่มอีกเพื่อช่วยชาวนา
นอกจากนี้ เกษตรกรยังอยากให้รัฐเลิกกำหนดโควตาจำนำข้าวรายจังหวัด ที่กำหนดไม่เกินแห่งละ 300,000-400,000 ตัน เพราะส่งผลให้หลายจังหวัดที่มีผลผลิตมาก เช่น พระนครศรีอยุธยาที่มี 600,000 ตัน เข้ารับจำนำไม่พอ เหลือข้าวอีก 305,000 ตัน ซึ่งรัฐบาลน่าจะดูผลผลิตเป็นราย จังหวัดเพื่อเปิดจำนำมากกว่า เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยกำหนดโควตารายจังหวัดมาก่อน