เชียงราย – กลุ่มชาวนาเมืองพ่อขุนฯ ลุ้น ครม.รับข้อเสนอจำนำนาปรัง ที่ตั้งเงื่อนไขสุดโต่ง ให้ปรับราคาเพิ่มทุกชนิดมากถึง 55-60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์หน้า ขู่หากเรื่องเงียบอาจเจอม็อบชุมนุมปิดถนนซ้ำอีกครั้ง
นายจิรายุ เผ่ากา สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลได้ออกมาตรการรับจำนำข้าวนาปรังประจำปี 2552 นี้ไปแล้วนั้น ทางกลุ่มเกษตรกรก็ได้ยื่นข้อเสนอผ่านทางจังหวัดไปให้กับรัฐบาลเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากมาตรการและข้อเรียกร้องของเกษตรกรแล้วถือว่าวิธีการที่ทั้งสองฝ่ายดำเนินการแตกต่างกันมากเหลือเกิน โดยเฉพาะการกำหนดเพดาราคาข้าวด้วยความชื้นของแต่ละระดับ
ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดรับจำนำข้าวจ้าว 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเหนียวคละความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 9,000 บาท แลข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาวความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 10,000 บาท แต่หากความชื้นทุกประเภทมากก็ลดหลั่นราคาไปตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรต้องการให้รับซื้อที่ความชื้น 15% ตันละ 14,000 บาท และข้าวจ้าวความชื้น 15% ตันละ 16,000 บาท สูงกว่าเพดานราคาของรัฐบาลตั้งแต่ 55-60 กว่าเปอร์เซ็น ดังนั้นตนจึงเห็นว่าโอกาสที่จะปรับข้อมูลให้ตรงกันทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องยาก
“แต่ก็ยอมรับว่าจากข้อเสนอที่เกษตรกรยื่นไป หากสามารถทำให้ราคากระเตื้องขึ้นจากที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้กิโลกรัมละ 1-1.50 บาท ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว”
นายจิรายุกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วหลายเรื่องไม่เฉพาะแต่เรื่องราคาและความชื้นเท่านั้น ก็คาดว่ารัฐบาลจะรับฟังและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 12 พ.ค.นี้ และจะได้คำตอบที่ชัดเจนในวันพุธที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งก็จะเป็นผลทำให้มีการประชุมกันในระดับพื้นที่อีก 1-2 ครั้งเพื่อหาข้อสรุป แต่หากว่าเรื่องที่เสนอกลับเงียบหายไปก็มีความเป็นไปได้สูง ที่กลุ่มเกษตรกรจะออกมารวมตัวกันชุมนุมในทุกอำเภอ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อออกมากดดันให้รัฐบาลดำเนินการตามมาตรการที่ได้ยื่นเสนอไป
“เมื่อปีกลายข้าวเหนียวนาปรังนาปีความชื้น 30% มีราคาถูกทำให้ชาวนาออกมาเรียกร้องเพื่อให้ได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 8 บาท ทำให้รัฐบาลโดยกรมการค้าภายในประสานเอกชนให้ไปรับซื้อถึงพื้นที่ซึ่งก็ทำให้ได้ราคาตามที่ขอ แต่อาจจะติดปัญหาบ้างเรื่องความล่าช้าในการจ่ายเงิน แต่ปีนี้เมื่อดูจากตารางราคาที่รัฐบาลกำหนดปรากฎว่าข้าวเหนียวเกรดเดียวกันนี้กลับถูกตั้งให้มีราคาแค่ 6-7 บาทเท่านั้นซึ่งต่ำกว่าปีก่อนเสียอีก ทำให้คาดว่าปัญหาน่าจะมีอีกมาก” นายจิรายุ กล่าวและว่า
ปัญหายังอาจเกิดจากกรณีที่ข้าวเหนียวปีก่อนราคาถูก ทำให้ปีนี้คนแห่มาปลูกข้าวจ้าวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฎว่าข้าวที่ชาวนาปลูกมักจะได้ความชื้นที่ประมาณ 30% ซึ่งราคานี้ได้รับการกำหนดจากรัฐบาลให้อยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 8.30 บาท ทั้งๆ ที่เมื่อปีก่อนราคาของข้าวระดับเดียวกันนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 9.50 บาท ขณะเดียวกันยังมีการแยกเกรดข้าวนอกจากเรื่องความชื้นออกมาอีก 5 เกรดทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นด้วย
ขณะที่ข้าวเหนียวเมล็ดยาว 10% ซึ่งรัฐบาลกำหนดราคาใหม่ออกมาให้ที่กิโลกรัมละ 10 บาทนั้น อาจจะไม่ถึงชาวนาในภาคเหนือเพราะข้าวประเภทนี้ไม่ค่อยปลูกกันมากแถบนี้อยู่แล้ว ดังนั้นคาดหวังว่าในการพิจารณาของรัฐบาลในช่วงสัปดาห์หน้า จะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มเกษตรกร จ.เชียงราย ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณานอกไปจากเรื่องราคาความชื้น คือให้เปิดรับจำนำตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.หลังเวลานี้ให้หยุดรับแต่ให้รถที่เข้าคิวรออยู่แล้วเข้าร่วมไม่เกิน 20.00 น.เมื่อเกิดการคั่งค้างให้แจ้งรถเกี่ยวข้าวให้หยุดเกี่ยวเพื่อไม่ให้แออัด ให้เพิ่มระดับสิ่งเจือปนจาก 2% เป็น 5% ให้เพิ่มโควต้าการรับจำนำทั้งจังหวัดจากเดิม 250,000 ตัน ก็ให้รับผลผลิตไปจนจบฤดูการเก็บเกี่ยวโดยไม่กำหนดระยะเวลา ให้เพิ่มจำนวนโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำจากเดิมกำหนดเอาไว้แค่ 10 แห่งทั้งจังหวัด ให้ชำระเงินให้กับเกษตรกรภายในเวลาไม่เกิน 3 วันหลังจำนำ และให้มีการส่งตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมสังเกตุการณ์ในการรับจำนำจุดละ 4 คน โดยที่จุดวัดความชื้นและต้องวัดความชื้นได้ถึง 3 ครั้งโดยเกษตรกรเองจนกว่าจะพอใจ ส่วนค่าแรงของตัวแทนเกษตรกรให้จ่ายวันละ 300 บาทต่อคนต่อวัน โดยให้ทางราชการสนับสนุน