เชียงราย – ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรข้าวนาปรังเมืองพ่อขุนฯ ตั้งแง่เงื่อนไขจำนำ เสนอรื้อเงื่อนไขรับจำนำทั้งเพิ่มราคา-ระดับความชื้น ระบุขอปรับราคาข้าวเหนียวความชื้น 15% เป็น 14,000 บาท/ตัน จาก 9,000 บาท หรือ 66.7% ส่วนข้าวจ้าวความชื้น 15% ขอปรับเพิ่ม 60%เป็นตันละ 16,000 บาท จากที่กำหนดไว้ 10,000 บาท
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (7 พ.ค.) คณะกรรมการข้าว จ.เชียงราย ได้จัดการประชุมเพื่อชี้แจงมาตรการตามโครงการรับจำนำข้าวนาปรังจากเกษตรกรประจำปี 2552 ณ ศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเเหมือนปี 2551 ซึ่งมีการปิดถนนของเกษตรกรในหลายพื้นที่ เนื่องจากข้าวนาปรังมีราคาถูกและเมื่อนำไปขายตามโครงการรับซื้อของกรมการค้าภายในปรากฏว่าไม่ได้รับเงินตามกำหนด
โดยครั้งนี้มีนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานและนายไพบูลย์ ขันธบุญ การค้าภายใน จ.เชียงราย ชี้แจงมาตรการในการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวนาปรังในปีนี้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับสถานที่รับจำนำนั้นมีโรงสีเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่งประกอบไปด้วย หจก.แม่จันพันธารัตน์ อ.แม่จัน บริษัท แม่จันมุ่ยฮวดเส็ง อ.แม่จัน หจก.แม่จันกิจเจริญ อ.แม่จัน บริษัทแม่จันโกเด้นเกรน จำกัด อ.แม่จัน บริษัท เชียงรายข้าวหอม (1991) จำกัด อ.ป่าแดด หจก.โรงสีข้วาเชียงรายศิริชัย อ.เมือง หจก.โรงสี ก.เทพสวัสดิ์ อ.พาน บริษัทข้าวทองธวัช จำกัด อ.พาน บริษัท เชียงของพืชผล จำกัด อ.เชียงของ และ หจก.สิริอินเตอร์เนชั่นแนล อ.ป่าแดด สำหรับการรับจำนำก็จะให้ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อต.) ออกใบประทวนให้เกษตรกรและให้ทาง อคส.รับจำนำใบประทวน
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่ าผู้ที่จะเข้าโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้และเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พื้นที่ที่สามารถนำข้าวไปจำนำคือพื้นที่ภายในจังหวัดและอำเภอของจังหวัดอื่นที่อยู่ต่อกับจังหวัดเชียงราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-31 ก.ค.นี้ เมื่อจำนำแล้วสามารถไถ่ถอนคืนได้ภายใน 4 เดือน
ด้านราคาการรับจำนำคือ กรณีเป็นข้าวจ้าว 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเหนียวคละความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 9,000 บาท และปีนี้เพิ่มอีกราคาคือ ข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาวความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 10,000 บาท แต่หากความชื้นทุกประเภทมากกว่านี้ ก็ลดหลั่นราคาไปตามลำดับ
รายงานข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมด้วยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปริมาณของข้าวนาปรังที่อาจจะออกมาสู่ตลาดมากกว่าที่กำหนดเอาไว้ รวมทั้งเกรงว่าโรงสีทั้ง 10 แห่งจะไม่สามารถรองรับการขนข้าวนาปรังไปจำนำได้ จนทำให้เกิดปัญหาคั่งค้างตามรายทางหรือต้องรอกันตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
ขณะเดียวกัน ตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมรับฟังการชี้แจง ยังกังวลเรื่องความชื้น ซึ่งเกษตรกรคงไม่สามารถขายได้ตามราคาที่กำหนด ดังนั้นกลุ่มเกษตรกรนาปรังจึงได้ยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการจังหวัดนำไปพิจารณา 7 ข้อ ได้แก่ 1.ให้เปิดรับจำนำตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.หลังเวลานี้ให้หยุดรับแต่ให้รถที่เข้าคิวรออยู่แล้วเข้าร่วมไม่เกิน 20.00 น.ขณะเดียวกันเมื่อเกิดการคั่งค้างให้แจ้งรถเกี่ยวข้าว ให้หยุดเกี่ยวก่อนเพื่อไม่ให้แออัดหนัก 2.ให้เพิ่มระดับสิ่งเจือปนจาก 2% เป็น 5%
3.กรณีความชื้นของข้าวเหนียวนาปรังมักอยู่ที่ประมาณ 35% จึงขอให้กำหนดราคาความชื้น 30% ขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 12 บาท ความชื้น 25% กิโลกรัมละ 13 บาท และความชื้น 15% กิโลกรัมละ 14 บาทหรือตันละ 14,000 บาท
ส่วนข้าวจ้าวพบว่าความชื้นมักไม่ต่ำกว่า 25% จึงขอให้ข้าวที่มีความชื้น 30% ขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 14 บาท ความชื้น 25% กิโลกรัมละ 15 บาทและความชื้น 15% กิโลกรัมละ 16 บาทหรือตันละ 16,000 บาท
4.กรณีโควต้ารับจำนำของ จ.เชียงราย จำนวน 250,000 ตันนั้นคาดว่าจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน จึงให้เพิ่มจำนวนการรับจำนำและให้รับผลผลิตไปจนจบฤดูการเก็บเกี่ยวโดยไม่กำหนดระยะเวลา 5.ให้เพิ่มจำนวนโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำ
6.ให้ชำระเงินให้กับเกษตรกรภายในเวลาไม่เกิน 3 วันหลังจำนำ 7.ให้มีการส่งตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมสังเกตุการณ์ในการรับจำนำจุดละ 4 คน โดยที่จุดวัดความชื้นและต้องวัดความชื้นได้ถึง 3 ครั้งโดยเกษตรกรเองจนกว่าจะพอใจ ส่วนค่าแรงของตัวแทนเกษตรกรให้จ่ายวันละ 300 บาทต่อคนต่อวัน โดยให้ทางราชการสนับสนุน
นายวีระพล โสมศรีแพง นายก อบต.ทรายขาว อ.พาน ซึ่งเคยเป็นแกนนำเกษตรกรนาปรังที่ปิดถนนสาย อ.พาน-พะเยา กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวนาปรังมากถึง 180,000 ไร่ ล้นโควต้าแน่นอน เมื่อรวมกับปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะความรีบเร่งในการเก็บเกี่ยวเพราะเป็นฤดูฝนทำให้คาดว่าผลผลิตอาจจะคับคั่งหากรัฐไม่ดำเนินการตามที่เสนอ
นายจิรายุ เผ่ากา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เขต อ.พาน กล่าวว่า กรณีโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 แห่งอาจจะไม่เพียงพอเพราะยังมีหลายพื้นที่ ที่ไม่อยู่ในพื้นที่บริการของโรงสี เช่น สาย อ.เวียงป่าเป้า-แม่สรวย จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหาการขนส่งคับคั่งกลางทางจนไม่ทันเวลารับจำนำ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าท้ายที่สุด รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้ชี้แจงว่า ขอให้ทุกฝ่ายได้เห็นใจรัฐบาลเพราะมีเรื่องที่จะต้องดำเนินการอยู่หลายเรื่อง อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวทางจังหวัดก็จะได้เสนอเรื่องต่อทางรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไป เพราะไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการให้ภายในระดับจังหวัดได้