เชียงราย – ม็อบชาวนาเชียงรายมาตามคาด รวมพลปิดถนนหน้าศาลเจ้า “กิ่วทัพยั้ง” ทำการจราจรทั้งขาขึ้น-ล่องเป็นอัมพาต กดดันรัฐเปิดรับจำนำข้าวเพิ่ม หลัง 10 โรงสีในพื้นที่ปิดรับ อ้างเต็มโควตา ทั้งที่ข้าวนาปรังพึ่งออกสู่ตลาดได้ 10% เท่านั้น เปิดฉากโจมตีนักการเมือง - 8 ส.ส.เพื่อไทยเชียงราย รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น ไม่สนใจปัญหาชาวบ้าน มัวแต่ทำโครงการใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้าน เหน็บรัฐบาลมุ่งแต่เช่าเมล์NGV 4 พันคัน เมินปัญหาเกษตรกร
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าเมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (2 มิ.ย.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน ประมาณ 300 คน ได้นำรถยนต์ไปปิดถนนพหลโยธินทั้งขาไปและกลับ 4 ช่องจราจรบริเวณหน้าศาลเจ้ากิ่วทัพยั้ง หมู่ 1 ต.แม่จัน อ.แม่จัน ซึ่งเป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างอำเภอที่อยู่ตามแนวชายแดนและทางไป อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กับ อ.เมืองเชียงราย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลได้ทำการรับจำนำราคาข้าวนาปรัง
ทั้งนี้ การปิดถนนดังกล่าวได้ทำให้การจราจรบนถนนสายดังกล่าวเป็นอัมพาตทันที และการจราจรติดขัดอย่างหนักเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ทาง พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผบก.ภ.เชียงราย ได้สั่งการให้ตำรวจ สภ.แม่จัน นำกำลังตำรวจจราจรไปอำนวยความสะดวกให้กับรถที่ใช้ถนน โดยตั้งจุดเตือนผู้เดินทางตั้งแต่ ต.นางแล อ.เมือง และ อ.แม่สาย เพื่อให้ทราบว่ามีการปิดถนนที่จุดดังกล่าว รวมทั้งให้รถที่ไปติดตามถนนบริเวณการชุมนุมให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นโดยเฉพาะสาย อ.เมือง-ดอยหลวง-แม่จัน ที่อ้อมไกลกว่าประมาณ 15 กิโลเมตร ขณะที่รถโดยสารประจำทางหรือเมล์เขียวจัดให้มีการเกลี่ยผู้โดยสารโดยนำรถไปรับทั้งขาขึ้น - ล่อง และให้ผู้โดยสารลงเดินผ่านการชุมนุมเพื่อไปขึ้นรถอีกฝั่งแทน
ขณะที่แกนนำชาวนาได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยถึงความเดือดร้อนจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และบางรายปราศรัยโจมตีต่อว่านักการเมืองว่ามัวแต่ไปโหมรุกหนักในโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท เช่น เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ฯลฯ แต่กับปัญหาของชาวนากลับไม่ได้รับการเหลียวแล รวมทั้งโจมตีบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย พรรคเพื่อไทยทั้ง 8 คน และนักการเมืองท้องถิ่นว่าไม่เคยเหลียวแล
ขณะที่ทางจังหวัดได้ให้นายมนัส โสกันธิกา ปลัดจังหวัดเชียงราย ไปเจราจากับแกนนำของชาวนาที่หน้าศาลเจ้ากิ่วทัพยั้งแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
นายบุญแต่ง ธรรมสาร แกนนำกลุ่มชาวนาในพื้นที่ อ.แม่สาย กล่าวว่า เดิมรัฐบาลกำหนดว่าจะรับจำนำข้าวนาปรังในพื้นที่จำนวนประมาณ 250,000 ตัน แต่ปรากฏว่าหลังจากข้าวนาปรังของเกษตรกรออกสู่ตลาดได้เพียง 10% หรือเป็นเพียงช่วงต้นฤดูกาลปรากฏว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาลทั้ง 10 แห่งต่างประกาศงดรับซื้อกันโดยถ้วนหน้าแล้วโดยอ้างว่าได้รับข้าวนาปรังจนเต็มโควตารับจำนำแล้ว ทำให้ชาวนาประสบความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะพึ่งจะเป็นช่วงต้นฤดูกาลก็ต้องขายข้าวในราคาถูกกันแล้วทั้งๆ ที่มีโครงการรับจำนำและภาครัฐก็มีเวลาเตรียมตัวมายาวนานเพราะมีประสบการณ์จากเหตุการณ์เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา
นายบุญแต่งกล่าวว่า ราคาข้าวนาปรังทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 7,000-8,300 บาท แล้วแต่ความชื้นแต่ส่วนใหญ่จะมีความชื้นตั้งแต่ 25-30% เพราะเป็นการเกี่ยวด้วยเครื่องและพร้อมจำหน่ายทันทีโดยไม่ได้ตากทำให้ราคาตกต่ำขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงทำให้อยู่ไม่ได้ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาและโควตาการรับจำนำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกรคือให้มีการขยายการรับจำนำอีก
ด้าน นายบุญเรียน โนพะเส้า แกนนำในพื้นที่ อ.เชียงแสน กล่าวว่า ชาวนาได้จัดทำข้อเรียกร้องออกมา 4 ข้อคือ 1.ขอให้รัฐบาลได้ขยายการรับจำนำข้าวนาปรังไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ 2.ไม่ต้องการให้มีการใช้โครงการรับประกันราคาแต่ขอให้รับจำนำแทน เพราะชาวนาไม่มีโกดังอบข้าวเองและการรับประกันราคาก็มีปัญหาเป็นประจำทุกปี 3.ขอให้รัฐบาลสร้างโรงสีและโรงอบของรัฐในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน และ 4.ขอให้ตั้งจุดรับจำนำมันสัมปะหลังในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวเพราะปัจจุบันรับจำนำเฉพาะที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้ จ.เชียงราย ได้จัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การค้าภายใน ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ฯลฯ กับกับกลุ่มเกษตรกร และแจ้งข้อกำหนดเบื้องต้นว่าจะรับจำนำข้าวจ้าว 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเหนียวคละความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 9,000 บาท แลข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาวความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 10,000 บาท แต่หากความชื้นทุกประเภทมากก็ลดหลั่นราคาไปตามลำดับ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรต้องการให้รับซื้อที่ความชื้น 15% ตันละ 14,000 บาท และข้าวจ้าวความชื้น 15% ตันละ 16,000 บาท แต่หากมีความชื้นมากกว่านี้ราคาก็จะลดลงตามสัดส่วน ทั้งนี้ได้กำหนดโควต้าเอาไว้ 250,000 ตัน