xs
xsm
sm
md
lg

ซัดเอ็นจีโอค้าน กม.สภาเกษตรกรฯเพราะเสียประโยชน์ เกษตรกรลั่นเคลื่อนไหวดันร่างฯเข้าสภาสมัยประชุมหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารมต.เกษตรฯ
ศูนย์ข่าวภาคอีสาน-“ประพัฒน์” งงเอ็นจีโอค้านการออกกฎหมายสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยในอนาคต ชี้ผลักดันเข้าสภาฯ ไม่สำเร็จเพราะมีหลายฝ่ายเสียผลประโยชน์หากินจากคนจนไม่ได้ ขณะที่ตัวแทนเกษตรกรลั่นพร้อมเคลื่อนไหวกดดันให้สภาฯ ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ทุกวิถีทาง และอาจมีการชุมนุมใหญ่ของเกษตรกรทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสรคาม ได้มีการจัดเสวนาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด และจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จ.มหาสารคาม และ จ.ขอนแก่น สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดมหาสารคาม รวมทั้งตัวแทนนักวิชาการและเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 100 คน

การจัดเวทีเสวนาดังกล่าวมีผลสืบเนื่องหลังจากนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหนังสือคัดค้านจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 17 องค์กร ยื่นหนังสือคัดค้าน จนนายชัยต้องถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากวาระการพิจาณาของสภา

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า ควรมีมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาตัวแทนของเกษตรกรไม่มีโอกาสเข้าไปเสนอความคิดเห็นในเวทีระดับชาติเลย มีแต่ตัวแทน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือองค์กรธุรกิจอื่นๆ

ดังนั้น การมี พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติจะทำให้เกิดการถ่วงดุลทางนโยบาย ด้านการเกษตรของรัฐบาล และกฎหมายฉบับนี้ยังสามารถสร้างความสมานฉันท์ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและองค์กรเกษตรกร หนุนเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า

“การไม่ได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเราได้เตรียมการทุกภาคส่วนแล้ว ทั้งด้านสาระของร่าง ด้านบุคลากรที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อรองรับตัวแทนเกษตรกรที่จะเข้าไปนั่งในสภาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ และการสร้างความเข้าใจในสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเกษตรกร” นายประพัฒน์กล่าวและว่า

เมื่อมีคนค้าน เราได้ใช้ความพยายามตอบข้อสงสัยทุกประเด็นอย่างชัดเจนที่สุด ทั้งข้อสงสัยว่าสาระสำคัญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84(8) ทั้งความกังวลว่าจะไม่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยแต่เอื้อภาคธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ แต่ข้อเท็จจริงเกษตรกรรายย่อยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากกฏหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ว่าตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้เขียนให้ทำงานร่วมกันได้ ไม่ก่อความขัดแย้งระหว่างกัน แต่จะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน จึงทำให้งงว่า ทำไมเอ็นจีโอจึงคัดค้านการออกกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่เป็นกฎหมายของเกษตรกรเอง

นายประพัฒน์ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมที่ผ่านมาการออกกฎหมายช่วยเหลือเกษตรกรทุกครั้งจึงยากลำบากมาก เพราะมีคนกลางเยอะแยะ เอาปัญหาของเกษตรกรไปต่อสู้ เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็ทำให้เกิดปัญหาสะดุดทุกครั้ง เช่น กฎหมายฉบับนี้กำลังประสบปัญหาเช่นที่ว่ามา และเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ทั้งที่กฏหมายฉบับนี้ถือเป็นอนาคตของกษตรกร

ด้าน ดร.วิญญู สะตะ หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดมหาสารคาม ระบุว่า การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแต่อย่างใด เพราะยุทธศาสตร์ของกองทุนฯมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานทั่วประเทศกว่า 6 ล้านคน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดมากมายที่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้ง่าย

เมื่อมีกฎหมายสภาเกษตรกรแห่งชาติอาจช่วยเติมเต็ม ในส่วนที่กองทุนฟื้นฟูฯไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ เช่น หนี้สินที่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

“ส่วนความกังวลว่า พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ จะนำไปสู่การยุบทิ้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนั้น เป็นการวิตกและคาดการมากเกินไป”

อย่างไรก็ตาม ดร.วิญญู กล่าวว่า จากการที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรเกษตรกรในภาคอีสาน พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วย กับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้กฎหมายนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและสามารถใช้เป็นกฎหมายที่ใช้แก้ไขปัญหาการ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร และทำให้เกิดการพัฒนาระบบโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของชาติต่อไปได้ในอนาคต

ขณะที่ นายสำเริง ปานชาติ และนายอุตสาห์ มิทะลา ผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เห็นพ้องกันว่า สมควรเป็นอย่างมากที่ต้องจัดกระบวนทัพกันใหม่ รวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันประชุมสภาครั้งหน้า และเกษตรกรเองก็พร้อมเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศเพื่อกดดันให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ให้ได้
ดร. วิญญู สะตะ หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดมหาสารคาม

กำลังโหลดความคิดเห็น