ดีลไทยธนาคารกับแบงก์มาเลย์วุ่นแน่ หมอเลี้ยบยันไม่รับรู้ ไม่รับรองการขยายสัดส่วนหุ้นต่างชาติในไทยธนาคาร ต้องรอผลสอบบิ๊กแบงก์ชาติกรณีเพิ่มทุนจนเสียหาย ด้าน ธปท.ชี้มีช่องให้ไทยธนาคารฟ้องศาลปกครองในกรณีที่รัฐมนตรีคลังไม่เซ็นอนุมัติ
กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูขายหุ้นไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (BT) ให้กับกลุ่มซีไอเอ็มบี ธนาคารพาณิชย์ อันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย ทั้งๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการแก้ไขปัญหาธนาคารฯ ที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แต่งตั้งยังไม่มีข้อสรุปนั้น วานนี้ (24 มิ.ย.) นพ.สุรพงษ์กล่าวว่าจนถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้รับเรื่องที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูจะขอขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติในไทยธนาคาร ดังนั้นการพิจารณาอนุมัติให้ขยายเพดานถือหุ้นหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่างๆ และความเหมาะสมเป็นหลัก
"ผมยังไม่ได้รับเรื่องที่ส่งมาเลย ต้องรอเวลาที่กองทุนฯ ขอขยายเพดานมาก่อนและดูข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจว่า เพียงพอหรือไม่" นพ.สุรพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการของกองทุนฟื้นฟูฯ ในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้เข้ามารายงานการประชุมและตัดสินใจ ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นของธนาคารไทยธนาคารกับผู้บริหารของกลุ่มซีไอเอ็มบี เพื่อจำหน่ายหุ้น 42.13% ที่ถือทั้งหมดใน ราคาหุ้นละ 2.10 บาท รวมเป็นเงิน 5,905 ล้านบาท แล้ว แต่ยังไม่มีเวลาพิจาณาในรายละเอียด แต่ก็ยืนยันว่าการได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคารนั้นเป็นสิ่งที่สมควรดำเนินการ เพราะมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเพิ่มทุนครั้งที่แล้วของธนาคารว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้
"สิ่งที่ผมได้รับข้อมูลมานั้น ก็ต้องรอให้คณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบว่าจริงหรือไม่อย่างไร และมีการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยหายหรือไม่ เพราะจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงผลประกอบการในอดีต และผลประกอบการเร็วๆ นี้ของธนาคาร ซึ่งจะกระทบต่อราคาที่ขายหุ้นของธนาคารว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งผมก็กำชับกับคณะกรรรมการตรวจสอบไปแล้วว่าให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด" นพ.สุรพงษ์ย้ำ
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูได้ข้อสรุปในการขายหุ้นไทยธนาคารให้กับกลุ่มซีไอเอ็มบี มาเลเซีย นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจดังกล่าวหากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น หลังจากการผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบเสร็จแล้ว นอกจากนี้ หาก ธปท.ทำเรื่องการขออนุญาตในการถือหุ้นเกินเพดานของผู้ถือหุ้นต่างชาติในธนาคารไทยธนาคาร ตนมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้นดังกล่าว หรือเห็นด้วยก็ได้
"อำนาจของผมคือการอนุมัติให้ต่างชาติลงทุนในแบงก์ได้ เมื่อถึงเวลานั้นผมมีสิทธิที่จะตรวจสอบอย่างรอบคอบ ผมไม่มีทางเข้าไปรับผิดชอบในสิ่งที่ผมไม่ได้ร่วมตัดสินใจเด็ดขาด" นพ.สุรพงษ์กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลที่ ธปท.รายงาน นพ.สุรพงษ์ เป็นข้อมูลในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ได้มีการถกเถียงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ได้มีการนำเสนอข้อมูลทางการเงินเปรียบเทียบตามสมมติฐานต่างๆ ว่าการขายหุ้นธนาคารออกไปในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะมีระดับการขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวประมาณ 2-3 พันล้านบาท แต่หากปล่อยไว้ระดับการขาดทุนจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะธนาคารไทยธนาคารถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่รัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขสถานกาณ์ทางการเงินให้มีความเข้มแข็งมาตั้งแต่วิกฤติ 40 แต่ก็ยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีนัก หากต้องปล่อยไว้ในท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอนาคตก็จะต้องใช้เงินในการดูแลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้มีภาระต่อรัฐมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หาก รมว.คลัง ไม่อนุมัติการขายหุ้นในส่วนที่เกินอำนาจของ ธปท.(เกิน 49%) เป็นเรื่องที่ยากที่กองทุนฟื้นฟูจะดำเนินการขายหุ้นออกได้ เนื่องจากในการเซ็นสัญญาซื้อขายระหว่างกองทุนฟื้นฟูกับกลุ่มซีไอเอ็มบีเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาระบุว่าการโอนหุ้นและการชำระเงินจะเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายบรรลุเงื่อนไขข้อบังคับก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน ขณะที่กลุ่มซีไอเอ็มบีที่ตัดสินใจซื้อหุ้นในครั้งนี้ เพื่อต้องการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในไทยธนาคาร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่ากองทุนฟื้นฟูฯ และ ธปท.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
***ธปท.ชี้ช่อง BT ฟ้องศาลปกครอง
แหล่งข่าวจาก ธปท.กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า หากรัฐมนตรีกระทรวงการคลังไม่อนุมัติการขายหุ้นดังกล่าว ผู้บริหารไทยธนาคารสามารถยื่นศาลปกครองได้ โดยต้องอ้างเหตุผลที่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่อนุญาตจะเกิดผลเสียอย่างไร
ปัจจุบันทางกองทุนทีพีจี นิวบริดจ์ ถือหุ้นอยู่ในไทยธนาคาร 36.74% และเมื่อรวมกับที่กองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้นอีก 42.13% ให้แก่กลุ่มซีไอเอ็มบี ทำให้ต่างชาติมีสัดส่วนถือหุ้นกว่า 78.87%
กฎหมายฉบับเดิม หากต่างชาติถือหุ้นเกิน 25% ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ส่วน พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ กำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 25% ไม่ถึง 49% ธปท.สามารถเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ แต่หากสัดส่วนการถือหุ้นเกิน 49% ต้องได้รับความเห็นชอบจากคลัง