xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.เดินหน้าโครงการชลประทานระบบท่อแก้ภัยแล้งซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ประกาศใช้แผน 5 ปี เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากอย่างบูรณาการ ดึงน้ำจากทุกส่วนเข้าสู่ระบบ ก่อนกระจายไปตามความจำเป็นแต่ละพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกันเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังงหวัดอุบลราชธานี นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการการบริหารจัดการน้ำ ร่วมเปิดโครงการเอาชนะความแห้งแล้งด้วยชลประทานระบบท่อ ที่บ้านจานตะโนน หมู่ 10 ต.หนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลฯราชธานี ซึ่ง อบจ.ใช้เป็นหมู่บ้านนำร่องแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร

พร้อมทั้งนำตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่อำเภอโซนใต้ ของจังหวัดกว่า 100 คน ดูวิธีการดำเนินงานของชาวบ้านจานตะโนน เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการน้ำด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ของตนเอง

นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกล่าวถึงที่มาของโครงการว่า จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 9 ล้านไร่ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ทั้งที่จังหวัดมีแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบกัน เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำลำโดมใหญ่ แม่น้ำลำโดมน้อย และยังมีลำน้ำสาขาอาทิ ลำเซบก ลำเซบาย กระจายอยู่ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมยังขาดโอกาสทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฤดูแล้งต้องทิ้งถิ่นไปขายแรงตามส่วนต่างๆของประเทศ

องค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงประกาศใช้แผนแก้ภัยแล้งแบบบูรณาการ 5 ปี โดยแบ่งกลยุทธ์การแก้ปัญหาไว้ 2 แนวทางคือ 1.สำรวจรวบรวมน้ำตามแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วเสริมแหล่งน้ำไปในพื้นที่ที่ยังขาดแคลน ทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำเดิมที่ตื้นเขิน หรือการขุดใหม่ เพื่อใช้เก็บกักน้ำ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะส่งเครื่องมือจักรกลสนับสนุน แต่ชาวบ้านต้องเป็นแรงงาน เพื่อให้มีความรู้มีส่วนร่วมจะได้หวงแหนแหล่งน้ำที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนต่อไปคือ การกระจายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานของเกษตรกร โดยมีชาวบ้านเป็นผู้บริหารจัดการน้ำกันเองตามลักษณะภูมิประเทศ และปัญหาในแต่ละพื้นที่ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดคอยเป็นพี่เลี้ยง การกระจายน้ำมีทั้งแบบส่งต่อเป็นระบบท่อชลประทาน และการทำเป็นคลองส่งน้ำแบบไส้ไก่ คาดว่าในระยะ 5 ปี จะสามารถวางโครงข่ายเชื่อมต่อน้ำแต่ละพื้นที่เข้าหากันได้ ก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด จะช่วยการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดซ้ำซากได้ และเกษตรกรจะมีน้ำใช้ทำการเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี

นายพรชัยกล่าวอีกว่า สำหรับบ้านจานตะโนน ต.หนองบ่อ อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องใช้แก้ปัญหาภัยแล้งโดยระบบท่อส่งน้ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว เมื่อทดลองดึงน้ำจากแม่น้ำชีแจกจ่ายเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกตามความยาวของท่อ 1,7000 เมตร ทำให้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ครั้งนี้กว่า 1,700 ไร่ และตลอดทั้งปี 2552 องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเชื่อมต่อระบบส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ไร่ ต่อจากนั้นจะขยายพื้นที่จ่ายน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 9 ล้านไร่ต่อไป

ด้านนายทองสิน บุญช่วย 42 ปี เกษตรกรบ้านจานตะโนนกล่าวว่า แต่เดิมใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กส่งน้ำเลี้ยงพื้นที่ปลูกข้าวของตนรายเดียว ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวนมาก แต่เมื่อมีการเชื่อมต่อท่อส่งต่อกันเป็นระบบ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอันมาก เพราะทุกคนช่วยกันออกค่าใช้จ่าย และเชื่อว่าในปีต่อไปชาวบ้านจานตะโนน สามารถทำการเพาะปลูกทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรังได้ เพราะทุกคนมีน้ำใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอเท่าเทียมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น