xs
xsm
sm
md
lg

ถกเครียดกำหนดเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล คนจนเฮเปิด1มิ.ย.นี้ดันนักวิชาการศึกษาผลดี/เสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีหารือของคณะทำงานพิจารณาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน พร้อมนักวิชาการ /หน่วยงานรัฐ และ กฟผ. ถกกำหนดเวลาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล หวังให้ปลาในแม่น้ำโขงมาวางไข่ช่วงต้นฝนและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในลำน้ำมูล สุดท้ายได้ข้อยุติเปิดประตูระบายน้ำ 1 มิ.ย.นี้ พร้อมเสนอให้ม.อุบลราชธานี วิจัยผลดี-ผลเสียการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ เป็นหลักฐานลดความขัดแย้งในชุมชน

เมื่อเร็วๆนี้ คณะทำงานพิจารณาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี มี ศจ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นประธานคณะทำงาน เรียกประชุมคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ตัวแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการประมงและการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำมูล

กำหนดวิธีการเปิดประตูระบายน้ำให้ปลาในแม่น้ำโขงว่ายเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูลเป็นเวลา 4 เดือน ตามมติ ครม.เมื่อปี 2545 เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงของสมัชชาคนจน ซึ่งเรียกร้องให้ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำมูลที่เสียไปหลังการสร้างเขื่อนแห่งนี้

การประชุมมีการโต้แย้งอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนายอำนวย หาญปราบ ตัวแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมอ้างว่า ต้องการใช้หลักเกณฑ์เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลปี 2551 ซึ่งกำหนดใช้อัตราการไหลของน้ำวัดที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตยเป็นเกณฑ์ เมื่อแม่น้ำมูลมีความเร็ว 500 ลูกบาศก์ต่อวินาที ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลได้ทันที หรือเมื่อความเร็วของน้ำไม่ถึง ก็ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลภายในวันที่ 15 มิ.ย.

แต่ถูกแย้งโดยนักวิชาการและชาวบ้านสมัชชาคนจนว่า การเปิดประตูเขื่อนในวันที่ 15 มิ.ย.ช้าเกินไป ทำให้ปลาว่ายขึ้นมาวางไข่ไม่ทันน้ำใหม่ที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม จึงเสนอให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ 1 พ.ค.ตามมติ ครม.ปี 2545 แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ เพราะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลอาจไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม

พร้อมชี้ว่าขณะนี้กายภาพของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากประเทศจีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงหลายจุด การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในช่วงดังกล่าว จะเป็นการปล่อยน้ำทิ้งและปลาอาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในช่วงนั้นทันที

การถกเถียงดำเนินไปกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่มีความคืบหน้า ศจ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ ประธานคณะทำงาน จึงเสนอให้ทุกฝ่ายยอมถอยคนละก้าว โดยกำหนดหลักเกณฑ์เปิด-ปิดประตูระบายน้ำไว้ 2 แบบคือ ประการแรกเมื่ออัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำมูลมีความเร็ว 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องเริ่มปล่อยน้ำ และยกบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลขึ้นสูงสุดทั้ง 8 บานภายใน 10 วัน

ประการต่อมา หากอัตราการไหลของน้ำแม่น้ำมูลมีความเร็วไม่ถึง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานภายในวันที่ 1 มิ.ย. โดยให้เริ่มทำการปล่อยน้ำตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นไป และเขื่อนปากมูลต้องเปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลานาน 4 เดือนตามมติ ครม. ทำให้ที่ประชุมยอมรับข้อเสนอของ ศจ.ดร.ประกอบ จึงหาข้อยุติช่วงวันเวลาการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลลงได้

ขณะเดียวกันนางสมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนเสนอให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาวิจัยผลดีผลเสียการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลยุติความขัดแย้งในชุมชนของคนทุกอาชีพ ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับจะทำการสำรวจวิจัยตามที่ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนเสนอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยุติข้อโต้แย้งในคณะทำงานเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูลด้วย

นางสมปอง กล่าวว่า ข้อเสนอวันเวลาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำที่เสนอมายอมรับได้ เพราะเป็นการทำงานร่วมกันจากคนหลายฝ่าย แต่ชาวบ้านสมัชชาคนจนที่หากินอยู่กับแม่น้ำรู้ดีว่า แม้จะเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ เพราะแม่น้ำมูลเป็นที่รวมของลำน้ำสาขาหลายสายที่ไหลมารวมกัน จึงไม่เคยปรากฏการน้ำแห้ง

แต่การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร กลับส่งผลดีต่อระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำทั้งสาย เพราะจะมีการปรับสภาพความสมดุลของธรรมชาติของแม่น้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี ก็เพราะคนคิดว่าตัวเองเก่งกว่าธรรมชาติ จึงสร้างปัญหาให้เกิดกับธรรมชาติดังกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น