ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงมูลค่ากว่า 464 ล้านบาทยังวุ่น แกนนำกลุ่มผู้ใช้น้ำ 2 จาก 3 ฝาย ที่ได้รับผลกระทบไม่ยอมลงนามบันทึกข้อตกลงให้สร้างประตูระบายน้ำโ ดยไม่รื้อฝายเก่าทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและยังขาดความเชื่อมั่น พร้อมระบุที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยให้ความเห็นยกเลิกโครงการมาแล้ว ขณะที่สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่เผยการตัดสินใจในท้ายที่สุดว่าจะสร้างหรือไม่สร้างขึ้นอยู่กับรัฐบาล ด้านนายอำเภอสารภีประกาศตัดญาติไม่ขอดูดำดูดีกรณีนี้อีก
ที่ห้องประชุมอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล เรื่องการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นายมงคล สุกใส นายอำเภอสารภี เป็นสักขีพยาน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 3 ฝาย รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วมประมาณ 20 คน
ทั้งนี้เนื้อหาตามบันทึกดังกล่าวมีข้อตกลง 3 ข้อ ได้แก่ 1.จังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ จะจัดสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง บริเวณพิกัด 47QMA988-734 ระวาง 4746-I 2.ฝายดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านทั้ง 3 ฝาย ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้งและฝายท่าวังตาล จะไม่มีการรื้อออก โดยให้คงไว้และปล่อยให้ล่มสลายไปตามกาล และ 3.ในการบริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องกับประตูระบายน้ำดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ จะต้องดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการที่มีตัวแทนของภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ จะต้องดำเนินการออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องกับประตูระบายน้ำดังกล่าวภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ก่อสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าวเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงขั้นตอนการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นายกว้าง เกิดศรี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายหนองผึ้งและนายสมบูรณ์ บุญชู ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ ได้ปฏิเสธที่จะลงนามร่วมในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายที่ตนเองเป็นประธานอยู่มีความเห็นส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ลงนามและยังไม่มีความไว้วางใจต่อโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำของกรมชลประทานว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง
ทั้งนี้มีเพียงนายบุญทา ไชยวุฒิ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายท่าวังตาล ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่จะทำการก่อสร้างเท่านั้น ที่พร้อมจะลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว จึงทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดและมีการโต้เถียงกันขึ้น กระทั่งสุดท้ายก็มีเพียงฝายท่าวังตาลเพียงแห่งเดียวที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
นายอำเภอสารภี กล่าวในห้องประชุมว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายหนองผึ้งและฝายพญาคำจึงไม่ยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ทั้งๆ ที่การก่อสร้างประตูระบายน้ำจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการกักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง และที่ผ่านมาได้พยายามทำความเข้าใจมาโดยตลอด ทั้งนี้เมื่อทั้ง 2 ฝายไม่ยอมลงนาม หลังจากนี้ตนเองก็จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวใดๆ กับฝายทั้ง 2 แห่งอีก ไม่ว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ตาม
นอกจากนี้ในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นเกี่ยวกับการใช้น้ำขึ้นมาก็ขอให้ไปพูดคุยกันเองว่าเป็นความผิดของใคร ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าตัวเองมีอายุยืนยาวพอที่จะได้เห็นความล่มสลายของฝายทั้ง 3 แห่ง และความเดือดร้อนของชาวบ้านแน่ หากไม่มีการสร้างประตูระบายน้ำ
ด้านนายกว้าง เกิดศรี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายหนองผึ้ง กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพราะชาวบ้านที่ใช้น้ำส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และส่วนตัวจะไม่ยอมให้มีการปล่อยให้ฝายโบราณที่มีอยู่ถูกปล่อยให้ล่มสลายไปโดยปริยายหรือมีผู้ใดเข้ามาทำการรื้อถอนทำลายโดยเด็ดขาด ทั้งนี้จะมีการไปพูดคุยหารือกับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อระดมความเห็นว่าจะเอาอย่างไรกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ซึ่งหากได้ข้อสรุปเช่นใดก็จะดำเนินการตามนั้น พร้อมทั้งขอปฏิเสธว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดที่ยื่นมือหรือสนับสนุนงบประมาณเข้าให้ความช่วยเหลือในการทำนุบำรุงฝายหนองผึ้งหรือฝายพญาคำอย่างที่มีผู้พยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านต้องดูแลกันเองทั้งหมด
ส่วนนายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้เคยลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเคยให้ความเห็นแล้วว่าควรยกเลิกหรือทบทวนการดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำโครงการนี้ ทั้งนี้การที่ไม่ยินยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นเพราะต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ใช้น้ำและต้องการให้มีการศึกษาผลดีผลเสียจากโครงการอย่างละเอียดรอบด้านมากกว่านี้
ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ในบันทึกข้อตกลงจะมีตัวแทนฝายท่าวังตาลเพียงแห่งเดียวที่ยอมลงนามก็ไม่เป็นไร โดยในส่วนของสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ก็จะจัดทำรายงานนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป ซึ่งการตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้างประตูระบายน้ำในท้ายที่สุดนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล โดยหากสร้างก็จะใช้เวลา 720 วันตามสัญญาจ้าง ที่ได้มีการลงนามจัดจ้างไปแล้ว ทั้งนี้หากก่อสร้างประตูระบายน้ำเสร็จจะได้ประโยชน์หลัก 2 ข้อ คือ ไม่ขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้งและบรรเทาน้ำท่วมช่วงน้ำหลาก ซึ่งในส่วนของปัญหาน้ำท่วมนั้น ยอมรับว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 100% เพียงแต่ช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยการเพิ่มการระบายน้ำในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่จากประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็นประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
อนึ่ง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงพร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่ง นั้น เป็นโครงการของกรมชลประทาน ซึ่งมีการลงนามสัญญาจ้างบริษัทเอกชนในการดำเนินการก่อสร้างแล้ววงเงิน 464 ล้านบาท โดยการดำเนินการตามโครงการจะ ประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
ตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย