xs
xsm
sm
md
lg

สสนก.เตือนปีนี้น้ำมาก กัน กทม.จมบาดาล ต้องฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.รอยล จิตรดอน
สสนก. เผยข้อมูลสถิติชี้ปีนี้ไทยจะมีน้ำมาก และอาจเกิดพายุรุนแรง ที่เป็นผลมาจากลมมรสุมในมหาสมุทรแปซิฟิก อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจันทบุรีและระยอง ต้องเร่งหาทางระบายน้ำลงสู่ทะเล และกักเก็บบางส่วนไว้ใช้ยามแล้ง ส่วนน้ำท่วม กทม. เคยใช้งบแก้ปัญหากว่า 4,000 ล้านบาท ถ้าแค่แบ่ง 300 ล้านฟื้นฟู 2 บึงใหญ่ในนครสวรรค์ จะช่วยกักน้ำไว้ได้อย่างน้อย 500 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงต่อสื่อมวลชน รวมทั้ง "ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ถึงแนวทางของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบริหารจัดการน้ำชุมชน เมื่อวันที่ 18 ก.พ.52 ที่ผ่านมาโดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีน้ำมาก โดยเฉพาะจันทบุรีและระยองที่อาจประสบกับพายุมากกว่าจังหวัดอื่น

"สสกน. ได้ถวายรายงานสถานการณ์น้ำมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นห่วงปัญหาการจัดการน้ำภายในประเทศ และทรงเห็นว่า เทคโนโลยีของไทยแม้ยังสู้ของต่างชาติไม่ได้ แต่พระองค์ก็โปรดให้ใช้เทคโนโลยีของคนไทย และไทยจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรามีความรู้เป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน" ดร.รอยลกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงวิทย์ฯ มีนโยบายให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ทำฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพื่อนำมาประกอบการบริหารจัดการน้ำในชุมชนด้วย

ดร.รอยล ให้ข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากถึง 1,500 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาถึง 12% จากปรกติที่มักเพิ่มไม่เกิน 9% โดยฝนส่วนใหญ่เกิดจากร่องความกดอากาศต่ำ และหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

แต่จากการศึกษาข้อมูลสถิติการเกิดพายุจากรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลสภาพการเปลี่ยนแปลงในทะเล มีแนวโน้มว่าในปี 52 นี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา

ที่น่ากังวลก็คือ มีแนวโน้มว่าปีนี้จะมีพายุรุนแรงพัดเข้าไทยมากกว่าปีก่อน โดยพัดเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านเวียดนามเข้ามาถึงไทย โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีและระยอง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด และอีกหลายจังหวัดทางฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากปีนี้ลมในมหาสมุทรอินเดียจะพัดเข้าประเทศอินเดียมากกว่า ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างเต็มที่

"จันทบุรีและระยอง มีพื้นที่จากภูเขาสูงถึงชายฝั่งทะเลเป็นระทางราว 30 กิโลเมตร ซึ่งการกักเก็กน้ำทำได้ลำบาก แต่หากเกิดน้ำหลาก ก็จะไหลลงสู่ทะเลทั้งหมด ดังนั้นกรมชลประทานจะต้องประสานงานกับกรมทางหลวง ในการระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกักเก็บน้ำไว้บางส่วนสำหรับหน้าแล้ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ แต่เรายังมีน้ำจืดไว้ยันน้ำทะเล ในช่วงที่คลื่นซัดเข้าฝั่งบริเวณดังกล่าวแรงที่สุดในช่วงเดือน พ.ค. เมื่อน้ำจืดเจอกับน้ำเค็ม ก็จะเกิดเป็นน้ำกร่อย และเกิดป่าชายเลนตามมา เป็นแนวกั้นน้ำตามธรรมชาติและช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ด้วย" ดร.รอยลอธิบาย

นอกจากนั้น ยังสามารถทำแนวกั้นน้ำโดยใช้ไม้ไผ่ และสร้างอาชีพเลี้ยงหอยให้กับชุมชนได้ และปัจจุบันมีบริษัทเอกชนร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) พัฒนาไม้เทียมสำหรับใช้ทำเขื่อนกั้นน้ำแทนไม้ไผ่อีกด้วย ซึ่งอายุใช้งานนานกว่า และช่วยลดการตัดไม้ไผ่จากป่าได้

สำหรับปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ ทุกๆ ปี นั้น ดร.รอยล กล่าวว่า ในแต่ละปีมีการใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่หาก กทม. แบ่งงบประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อไปช่วยฟื้นฟูพื้นที่บึงบอระเพ็ด และบึงเสนา จ.นครสวรรค์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้และช่วยชะลอการไหลของน้ำเข้ากรุงเทพฯ ได้ ซึ่งจะช่วยกักน้ำได้อย่างน้อย 500 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง กทม. และชุมชนในชนบทด้วย

ส่วนปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะปัญหาน้ำแล้งเพียงอย่างเดียว แต่จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมเป็นพื้นที่เดียวกัน และในแต่ละปีมีฝนตกเป็นปริมาณมาก แต่เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้งในหน้าแล้งมาก

"ที่จริงภาคอีสานมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบท.) ซึ่งคาดหวังงบประมาณจากกรมชลประทานเข้ามาช่วย ทั้งที่จริง อบท. ใช้งบบริหารจัดการน้ำเพียง 2.7% เท่านั้น จาก 4,000 ล้านบาท แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีต้องใช้งบแก้ปัญหาถึง 7%" ดร.รอยล กล่าว

ทาง สสนก. จึงได้สรุปข้อมูล และเสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ พร้อมจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำ และแนวทางป้องกันน้ำท่วมสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กระจายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น