ระยอง -เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เรียกร้องอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผู้ว่า กนอ.แสดงสปิริต โดยการลาออก
วันนี้ (18 มี.ค.) นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยว่า กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมพิจารณาศาลปกครองระยอง มีคำสั่งให้ประกาศพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.มาบข่า และ ต.เนินพระ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง ต.บ้านฉาง อ.บ้านแง ทั้งตำบล ภายใน 60 วัน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ผลการประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่มีการยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง
ขณะนี้ได้มีการหารือนายวิชิต ชาตไพสิฐ รอง ผวจ.ระยอง ที่จะมีการแต่งตั้งกลุ่มเครือข่ายฯและผู้ร่วมฟ้องคดีเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ หลังมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กลุ่มเครือข่ายฯ และผู้ฟ้องคดี ขอโควตาที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการ เนื่องจากมีความกังวลว่า แผนจะไม่ได้ออกมาอย่างที่เราคาดการณ์ไว้และอาจจะเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก
จังหวัดสมควรแต่งตั้งกลุ่มพวกเราเข้าไปเป็นคณะกรรมการในสัดส่วนที่เท่าๆกัน ซึ่งเราน้อมรับและยินดีที่จะร่วมจัดทำแผนฯ อีกประเด็นหนึ่ง ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดที่มี นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัชฏ์ เป็นประธาน กำลังเตรียมการที่จะยื่นอุทธรณ์คดีละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ผลการประชุมที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีประเด็นที่น่ากังวล อาจจะมีการขัดต่อมติ ครม. ขัดต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
เหตุผลจะมีการอุทธรณ์ 3 เรื่องด้วยกัน 1.โต้ข้อเท็จจริงกับศาลปกครองระยอง ว่ามลพิษไม่ได้มีความรุนแรง 2. การประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นดุลพินิจ ไม่ได้เป็นการบังคับว่าต้องประกาศ ขึ้นอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดังนั้น ดุลพินิจเห็นว่ามลพิษไม่มากจึงไม่ประกาศ 3.เจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ 1 และข้อ 2 ผมข้องใจพอสมควรว่าผลการประชุมที่กรมควบคุมมลพิษ เป็นการขัดต่อมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขัดมติ ครม.ที่ระบุชัดเจนว่าเขตควบคุมมลพิษจะไม่อุทธรณ์
ดังนั้น ไม่สมควรที่จะโต้ข้อเท็จจริงเรื่องมลพิษมีหรือไม่มีอย่างไร มีความพยายามที่จะทำให้ขัดมติ ครม. และพยายามที่จะตอบโต้คำวินิจฉัยศาล อาจจะไม่ใช่การละเลยอย่างเดียวแต่จะเป็นการต่อสู้เรื่องของไม่สมควรประกาศเขตควบคุมมลพิษด้วย การประชุมที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องมีผู้รับผิดชอบ ถ้ามีการเขียนคำอุทธรณ์คดีไปในทางยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ ไม่ใช่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น กลุ่มเครือข่ายฯจะมีมาตรการเคลื่อนไหวแน่
นายสุทธิกล่าวต่อว่า เราเรียกหาความรับผิดชอบจิตสำนึกกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไม่ดีพอ ก็ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่ง ควรแสดงสปิริตลาออก และขอตั้งข้อสังเกตกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดที่มีนายโฆษิต เป็นประธาน 1.ใช่หรือไม่ เป็นผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงเทพเป็นแหล่งเงินกู้ที่สำคัญของนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ซึ่งมีแผนที่จะขยายการลงทุนในพื้นที่ อ.บ้านฉาง จึงมีความชัดเจนว่า นายโฆษิต มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในช่วงที่มีอำนาจ และอาจกระทบการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ดังนั้น นายโฆษิต มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย
2.นายพรชัย รุจิประภา ในฐานะปลัดกระทรวงพลังงาน และนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการ ปตท.อยู่ในขณะนั้น และเป็นช่วงที่ ปตท.จะมีการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉางมาตลอด กรณีที่นายพรชัย เป็นหนึ่งในการประกาศสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นกัน และไม่อยากให้เกิดผลกระทบในการลงทุน
สำหรับ นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นผู้เสนอว่าสมควรประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อ ปี 2548 สมัยนั้นยังเป็นรองอธิบดีฯ และยังเป็นที่ปรึกษากลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายแห่ง ดังนั้นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ต้องรับผิดชอบ ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินสมควรให้สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ในส่วนกลุ่มเครือข่ายฯได้ยื่นเรื่องให้ ปปช.ตรวจสอบแล้วรวมทั้ง หน่วยงานดีเอสไอ เพื่อกระชากหน้ากากให้สังคมรับรู้
นายสุทธิกล่าวต่อว่า นายสุพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางมณฑา ประนุทนรพาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะที่ต้องควบคุมดูแลโรงงานให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด ทั้ง 2 คนนี้ควรแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหลีกทางให้คนอื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป