xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “มาบตาพุด”...ชัยชนะยกแรกของ “เหยื่อมลพิษ-เหยื่อธุรกิจทุจริต”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านมาบตาพุดที่ต้องการให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ชุมนุมที่หน้าศาลปกครองระยอง เพื่อรอฟังมติที่ประชุม คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ว่าจะอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่(16 มี.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

แม้ชาวบ้านมาบตาพุด จะชนะคดีที่ขอให้ศาลปกครองระยองมีคำสั่งให้ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” และที่ประชุม คกก.สิ่งแวดล้อมฯ วานนี้ (16 มี.ค.) มีมติยอมทำตามคำสั่งศาลฯ แต่นั่นก็เป็นเพียง “ชัยชนะยกแรก” เพราะ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ยังออกอาการ “ดื้อแพ่ง” ว่า ตัวเองไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ได้ประกาศเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ก่อนหน้านี้ จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ศาลฯ ในส่วนนี้ ขณะที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ก็ร่ำๆ จะฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองระยอง โดยอ้างว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะส่งผลกระทบอย่างหนัก ...ช่างน่าแปลกที่ภาคธุรกิจเห็นชีวิตคนไร้ค่า “เหมือนผักปลา” ส่วนตัวเองจะก่อปัญหาอย่างไรก็ได้เช่นนั้นหรือ?

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

หลังศาลปกครองระยองมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า ต.ทับมา และ ต.บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากมีหลักฐานรายงานการวิจัยจากหลายหน่วยงานพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและอาจก่อความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น รายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2548 ระบุว่า พบสารอินทรีย์ระเหยในพื้นที่มาบตาพุดมากกว่า 40 ชนิด โดยเป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ขณะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้สำรวจการระบาดของโรคมะเร็งในประเทศไทยของ จ.ระยอง ระหว่าง พ.ศ.2540-2544 พบว่า สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิดในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมืองระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ ถึง 3 เท่า ฯลฯ

เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนั้น นายเจริญ เดชคุ้ม และชาวบ้านมาบตาพุด ที่เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ได้วอนนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ช่วยแจ้งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า อย่าอุทธรณ์คดีเลย เพราะต้องใช้เวลานานหลายปี แค่นี้ชาวมาบตาพุดก็ต้องทนกับมลพิษมาเป็นสิบปีแล้ว

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านหากรัฐบาลหรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง โดยยืนยันว่า รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการลด และขจัดมลพิษโดยเร็วที่สุด

แต่ดูเหมือนท่าทีของชาวบ้านมาบตาพุดและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะสวนทางกับความต้องการของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีข่าวว่า จะลุกขึ้นมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองระยอง จะได้ไม่ต้องมีการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยอ้างว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะส่งผลกระทบมากทั้งในแง่การลงทุนและความเชื่อมั่น

เมื่อถึงวันที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เป็นประธานบอร์ด นัดประชุมชี้ชะตาว่าจะอุทธรณ์คดีดังกล่าวหรือไม่ (16 มี.ค.) ปรากฏว่า ในพื้นที่มาบตาพุด มีการรวมตัวของชาวบ้าน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่าอุทธรณ์คดี ขอให้ทำตามคำสั่งของศาลปกครองระยองที่ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มเรียกร้องให้มีการอุทธรณ์คดี

ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเอกฉันท์ที่จะทำตามคำสั่งศาลปกครองระยองในส่วนที่ให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่จะขอใช้สิทธิอุทธรณ์คดีในส่วนที่ศาลฯ วินิจฉัยว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ก่อนหน้านี้ตามที่ชาวบ้านฟ้อง

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการอุทธรณ์ดังกล่าว แต่ยืนยัน การอุทธรณ์จะไม่กระทบกับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

“ผมคิดว่าคงไม่เป็นธรรมสำหรับหลายคนที่ถูกวินิจฉัยว่าละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วไม่ให้เขาใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ตรงนี้ และเราก็ต้องเชื่อในความเป็นธรรมที่ศาลจะให้กับทุกฝ่าย”

นายอภิสิทธิ์ ยังเชื่อด้วยว่า การประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพราะการกำหนดเขตควบคุมมลพิษ เป็นการประกาศเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยก็เคยดำเนินการมาหลายพื้นที่แล้ว จึงไม่น่าจะกระทบต่อธุรกิจหรือทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน

เมื่อปฏิกิริยาจากชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งหนุนและไม่หนุนให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ดังนั้น ลองไปดูว่าท่าทีของแต่ละฝ่ายจะรับมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้หรือไม่?

นายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็น 1 ในแกนนำชาวบ้านที่สนับสนุนให้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง บอกว่า พร้อมยอมรับเหตุผลของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด แต่ยังยืนยันว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะทำให้การท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งจะมีคนตกงานจำนวนมาก

“โดยส่วนตัว ในฐานะที่ผมประกอบธุรกิจอยู่ในเขต อ.บ้านฉาง เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตรงนี้เบื้องต้น การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในเรื่องของมุมมองของบุคคลภายนอก นอก จ.ระยองว่า แหล่งท่องเที่ยวนี้น่าจะมีมลพิษ เมื่อน่าจะมีมลพิษนั่นหมายความว่า คงไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว รวมทั้งแหล่งอาหารทางทะเล โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลาเนี่ย อาจจะได้รับผลกระทบจากสารตกค้างทางน้ำ ดังนั้น ความมั่นใจของผู้บริโภคก็อาจจะมั่นใจน้อยลง เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้ เมื่อรัฐบาลมีมติอย่างนี้ เราก็เคารพเสียงของรัฐบาล แต่ส่วนหนึ่งเราก็ต้องหันกลับมามองดูตัวเราว่า เราจะต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างไร และข้อสำคัญที่สุด เราจะให้รัฐบาลหันกลับมาเยียวยาในส่วนที่รัฐบาลบอกว่าไม่ทำให้เสียหาย อันนี้คือภาคส่วนการท่องเที่ยวที่ถือว่าต้นทุนต่ำในการที่จะสร้างรายได้”

“ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรม ในขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีหลายโรงงานอยู่ระหว่างทำในเรื่องของอีไอเอ (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อยู่ระหว่างการดำเนินการต่างๆ และในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ ทุกอย่างชะลอตัวหมดเลย แต่เมื่อแผนนี้(แผนลด-ขจัดมลพิษหลังประกาศเขตควบคุมมลพิษ)เข้ามาปุ๊บ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมต้องลงทุนเพิ่มขนาดนั้นเนี่ย ถามว่าเขาจะอยู่ไหวมั้ย มันกระทบเป็นลูกโซ่ ผมร้านอาหาร ค้าขายได้น้อยลง สินค้าทางทะเลที่ประมงเรือเล็กจับมาก็ค้าขายไม่ได้ เมื่อค้าขายไม่ได้ เขาก็จอดเรือ รถสองแถวที่คอยรับบริการส่งผู้โดยสาร ก็ลดน้อยลง อันนี้เขาเรียกว่าระบบรากหญ้าของชุมชนที่อยู่กันมา มันเกิดกระทบหมด”


นายสุทธา ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้ตนจะดูในแง่ข้อกฎหมายว่า เปิดช่องให้สามารถฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองระยองที่ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดได้หรือไม่ หากกฎหมายเปิดช่อง ตนก็พร้อมจะใช้สิทธินั้น

ขณะที่นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ในแกนนำชาวบ้านมาบตาพุดที่ฟ้องต่อศาลปกครองระยองเพื่อให้มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด บอกว่า เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในส่วนที่จะทำตามคำสั่งศาลด้วยการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ จะอุทธรณ์ว่าไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่นั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ คงกลัวว่าถ้าไม่อุทธรณ์ อาจถูกชาวบ้านฟ้องอาญาและแพ่งตามมา ซึ่งตนฟ้องแน่ โดยจะฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ คือชุดนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ (รองนายกฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่จะรอให้ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดก่อน

“ศาลปกครองชี้ว่า เป็นการละเลย เพราะฉะนั้นเขาเลยสู้คดี เพราะไม่งั้นเขาจะมีความผิด เนื่องจากศาลปกครองให้คุณให้โทษใครไม่ได้ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลปกครอง มันจะเป็นเหตุให้พวกผมไปฟ้องมาตรา 157 ได้ หรือฟ้องบังคับทางแพ่งได้ เขาก็เลยกลัว เขาก็เลยสู้คดี แต่ถ้าผลศาลปกครองสูงสุดออกมาอย่างไร พวกผมก็ต้องดำเนินการกับคนที่ละเลย แต่สิ่งที่เราต้องการตอนนี้เป็นเรื่องของการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพื่อมาทำแผนขจัดมลพิษ ซึ่งเราได้แล้ว ส่วนเรื่องวินัยข้าราชการเนี่ย วินัยของ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดคุณโฆษิต เป็นเรื่องราวที่เราต้องติดตามในชั้นอุทธรณ์คดีต่อไป”

“ถาม-แสดงว่า เราจะรอผลศาลปกครองสูงสุดว่าจะชี้ว่ายังไง?) ว่าละเลยหรือไม่ละเลย (ถาม-ถ้าละเลยเราก็ฟ้องศาลอาญาและศาลแพ่ง?) แน่นอน แต่ระหว่างนี้ เราก็ไม่ได้รอศาลปกครอง เราก็ไปยื่น ป.ป.ช.ไว้แล้ว รวมถึงไปแจ้งดีเอสไอไว้แล้วเช่นกัน ไปยื่น ป.ป.ช.เมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ก่อน ส่วนดีเอสไอ เราติดต่อและจะทำการยื่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งคดีเดิมที่เรายื่นไว้ ก็ทำการสืบสวนไประดับหนึ่งแล้ว และเราต้องการให้ดีเอสไอบรรจุคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ความจริงเราไม่ต้องการเล่นงานข้าราชการให้ตาย นี่ผมยืนยันนะ แต่เราต้องการเขตควบคุมมลพิษมากกว่า ดังนั้นการเอาผิดทางวินัยหรือบังคับทางแพ่งกับคนที่ละเลย ค่อยว่ากันเมื่อกระบวนการยุติธรรมสิ้นสุด”


นายสุทธิ เผยด้วยว่า ผู้ที่ตนยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเพื่อเอาผิดกรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ได้แก่ นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง ว่า คณะกรรมการไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ได้ประกาศเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ก่อนหน้านี้นั้น นายสุทธิ เชื่อว่า คงยากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ จะหลุดพ้นข้อหาดังกล่าว เพราะก่อนที่ศาลปกครองระยองจะวินิจฉัยออกมาเช่นนั้น ศาลฯ ได้ไต่สวนและขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และศาลก็ได้เดินเผชิญสืบในพื้นที่ด้วยตนเอง จนได้ข้อเท็จจริงทั้งในเชิงวิชาการเชิงเอกสาร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์

ด้านดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต พูดถึงกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่า การละเลยการปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดอาญามาตรา 157 ดังนั้นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นชาวมาบตาพุดคนใดสามารถฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลอาญาได้ ส่วนในแง่วินัยก็สามารถฟ้องต่อ ป.ป.ช.ได้เช่นกัน

ส่วนกรณีที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งชาวบ้านมาบตาพุดบางส่วนที่คัดค้านการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ดร.เจิมศักดิ์ ชี้ว่า ชาวบ้านที่คัดค้าน ควรหาข้อมูลให้ตัวเองมากกว่านี้ ส่วนพวกนักอุตสาหกรรมที่คัดค้านโดยอ้างว่าต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจ หรือธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมนั้น ดร.เจิมศักดิ์ สวนกลับว่า ถ้าทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ไม่ทุจริต ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอาแต่ผลประโยชน์เข้าว่า ก็อย่าอยู่ประเทศไทยดีกว่า

“ฝ่ายที่กลัวเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษ และกลัวเรื่องการท่องเที่ยวเนี่ย ถามว่าทำไมพัทยาก็ดี ภูเก็ตก็ดี ปราณบุรีก็ดีเนี่ย เขาประกาศแล้วเขาทำไมเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ได้ ยิ่งประกาศ คนเขายิ่งกล้าที่จะมาท่องเที่ยว เพราะคุณมีมาตรการในการควบคุม ไม่ใช่ประกาศแล้ว คนจะไม่มา คุณนึกว่าคนโง่ว่า ถ้าไม่ประกาศแล้วคนไม่รู้ว่ามีมลพิษงั้นเหรอ การประกาศเพื่อกำหนดแผนกำจัดมลพิษเนี่ย มันไม่ดีกว่าเหรอ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนที่คิดแบบนั้นมันคิดได้ยังไง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือได้รับอิทธิพลมาจากสภาอุตสาหกรรมฯ หรือนักอุตสาหกรรมหรือเปล่า เจ้าของโรงงาน ซึ่งผมว่ามันเป็นความคิดที่ประหลาดมากในความคิดของผม แต่พวกนักอุตสาหกรรมก็ชอบอ้างว่า มันเป็นเรื่องที่ต้องเลือก ระหว่างจะเอาเศรษฐกิจธุรกิจหรือจะเอาสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วถ้าคุณทำตามเศรษฐกิจที่ถูกต้อง มันไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ที่คุณมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเนี่ย เพราะคุณกำลังทำทุจริตในเศรษฐกิจ”

“คือ ระบบเศรษฐกิจที่ดีเนี่ย ไม่ใช่ว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”แล้วก็โยนปัญหาไปให้สังคม สิ่งแวดล้อม อันนั้นผมไม่ถือว่าเป็นการเลือกระหว่างเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้ และยิ่งถ้าหากว่าคุณมีโรงงานที่ดี เขาจะไม่กลัวเลย การควบคุมมลพิษ เพราะคุณจะได้ให้เขาควบคุมโรงงานที่ไม่ได้เรื่อง โยนภาระไปให้คนอื่น และตัวเองลดต้นทุน มันจะได้แข่งกันอย่างเสมอภาค มันได้แข่งกันอย่างไม่เอาเปรียบกัน คุณคิดดูสิ ถ้าตัวคุณทำดี แต่คนอื่นมันทำชุ่ย คนอื่นเขาลดต้นทุน แล้วมันก็ขายของถูกกว่าคุณ คุณไม่แย่เหรอ ตกลงคุณก็น่าจะยินดีที่อยากจะเห็นการควบคุมมลพิษ และประเทศไทยต้องมองระยะยาว ไม่ใช่มองระยะแค่ปลายจมูก ผมคิดว่าถ้านักลงทุนที่มันมองปัญหาเฉพาะหน้า และมันเอาแต่ผลประโยชน์ ไล่มันไปประเทศอื่นได้ก็ดีเหมือนกัน”


ดร.เจิมศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีที่มีข่าวว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองระยองนั้น หากเป็นเรื่องจริง ถือว่าดูหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล เพราะเมื่อศาลปกครองระยองบอกให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด แต่คนพวกนี้กลับออกมาสวนศาลว่า ถ้าประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะเกิดความเสียหาย ...ถ้าเราปล่อยให้ใครก็ตามออกมาสวนศาลแบบนี้ได้ แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร?
ชาวบ้านวอนรัฐบาลและ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ อย่าอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยองเลย เพราะต้องเผชิญกับมลพิษมาเป็นสิบปีแล้ว
ผู้ประกอบการและชาวมาบตาพุดอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการให้มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ชุมนุมที่ข้างศูนย์ราชการ จ.ระยอง (16 มี.ค.)
นายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด
นายสุทธา ยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลและ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ให้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง(16 มี.ค.)
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน ม.รังสิต ดักคอภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ถ้าไม่ได้ทุจริต ใยต้องกลัวการประกาศเขตควบคุมมลพิษ
กำลังโหลดความคิดเห็น