xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีแห่งการรอคอย ของเหยื่อมลพิษมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง,ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


เมื่อ ก.พ. 2550 ขณะที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผมเดินทางเข้าไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

อยู่ในพื้นที่แค่ชั่วโมงเดียว ได้กลิ่นสารเคมีอบอวล ผมก็รู้สึกวิงเวียน อึดอัด หายใจไม่เต็มปอด แสบตา และน้ำตาไหลพราก

ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงหัวอกของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา

ชาวบ้านทำมาหากินอยู่ที่นี่ ชีวิตทั้งชีวิต รวมถึงชีวิตลูกหลานของเขา ก็อยู่ที่นี่

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เคยระบุว่า สภาพอากาศในพื้นที่มีมลพิษอย่างรุนแรง เกินขีดความสามารถการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ว่ากันว่า ถ้ายึดตามมาตรฐานกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ควรประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ !

เราเข้าไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็รู้สึกแทบแย่ แล้วชาวบ้านที่เขาต้องกินต้องอยู่ที่นั่นตลอดเวลา เขาต้องทนมากว่า 10 ปีแล้ว ญาติมิตรป่วย และตายไปกี่คนแล้ว พวกเขาไม่ใช่คนอย่างพวกเราหรือ?

1) ฆาตกรรมเงียบ ทุกลมหายใจ

รายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2548 ระบุว่า อากาศในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีปัญหาหนัก โดยพบว่า ในอากาศมีสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง 20 ชนิด และมีถึง 19 ชนิด ที่พบว่ามีค่าก่อมะเร็งเกินระดับเฝ้าระวังคุณภาพทางอากาศ

พูดง่ายๆ ว่า คนในพื้นที่มาบตาพุด ต้องหายใจเอาสารก่อมะเร็งเข้าปอดทุกนาที

ผลปรากฏว่า คนระยองป่วยเป็นมะเร็งมากที่สุดในประเทศไทย สอดรับกับข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จาก “โครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทยของจังหวัดระยอง พ.ศ.2540-2544” ระบุว่า คนในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมืองระยอง มีสถิติป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิดมากกว่าอำเภออื่นๆ ถึง 3 เท่า และป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าอำเภออื่นๆ ถึง 5 เท่า

นอกจากนี้ คุณภาพน้ำและคลองสาธารณะปี 2550 ก็มีปัญหาร้ายแรง มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด อยู่ในระดับเสื่อมโทรม อีกทั้งมีการปนเปื้อนโลหะหนักได้แก่ นิกเกิล ปรอท ทองแดง โครเมียม และสารหนูสูงเกินค่ามาตรฐาน

ในแหล่งน้ำทั่วไป รวมถึงบ่อน้ำตื้นของชุมชนในพื้นที่ พบสารอินทรีย์ระเหยและโลหะหนักอย่างปรอท ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ปัจจุบันชาวบ้านไม่สามารถใช้กินใช้ดื่มได้ ต้องซื้อน้ำจากที่อื่นมากินมาใช้

ยิ่งกว่านั้น การปนเปื้อนยังลงไปสู่ทะเลทำให้ปริมาณปรอทในน้ำทะเลค่อนข้างสูง ตามชายหาดมีตะกอนจับ โดยที่สารปนเปื้อนเหล่านี้จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ปลาทะเล กุ้ง ปู

ดูง่ายๆ หอยแมลงภู่ที่โดยธรรมชาติจะมีการดูดน้ำทะเลผ่านตัววันละ 3,000 ลิตร หรือ (3 แทงก์) ลองคิดดูว่า จะกรองเอาสารพิษไว้ในตัวแค่ไหน แล้วหอยแมลงภู่เหล่านี้กลายไปเป็นอาหารให้ใครรับประทานบ้าง ?

ยังมีปัญหาการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลุมฝังกลบขยะปนเปื้อนและขยะอันตรายที่มีอยู่ในพื้นที่จะรองรับไม่พอแล้ว มีการลักลอบไปทิ้งตามที่ที่มีการตักหน้าดินไปขาย ที่รกร้างตามที่สาธารณะ สร้างปัญหาน้ำปนเปื้อนใต้ดิน

ที่ผ่านมา แม้ภาคอุตสาหกรรมพยายามจะอ้างว่า โรงงานส่วนใหญ่ปล่อยสารพิษอยู่ในระดับมาตรฐานตามกฎหมาย แต่ก็เป็นจริงเพียงบางส่วน และที่สำคัญกว่านั้น เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัวรวดเร็ว จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้น หนาแน่นยิ่งขึ้น ถึงกับมีการรุกล้ำพื้นที่สีเขียวที่เป็นเขตกันชน ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วงที่สร้างโรงงานได้ ปริมาณรวมของมลพิษที่ปล่อยออกมาทั้งหมดนั้น ก็สูงเกินกว่าระดับมาตรฐานที่มนุษย์ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่จะมีชีวิตได้อย่างปกติสุข

ทั้งหมดนี้ คือ ภัยคุกคามชีวิตของคนมาบตาพุดมายาวนานกว่า 10 ปี

2) เขตควบคุมมลพิษ คุ้มครองชีวิตคน

คำพิพากษาศาลปกครอง จังหวัดระยอง สั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ “ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้ง ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.ทับมา และ ต.มาบข่า อ.เมืองระยอง ตลอดจนท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ทั้งตำบลเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป” ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา

การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครอง ไม่ใช่การขับไล่หรือห้ามการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ แต่จะเป็นการ “ช่วยชีวิตชาวบ้าน” และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการกำหนด ควบคุม ดูแล และติดตามการดำเนินการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายร้ายแรงในปัจจุบัน

3) การโกหก เพื่องัดคำสั่งศาล

ข้ออ้างของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมฯ หรือคณะกรรมการร่วมภาคธุรกิจเอกชน (กกร.) ที่พยายามจะหยิบยกขึ้นมาคัดค้านการประกาศเขตควบคุมมลพิษตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ล้วนแต่เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เช่น

อ้างว่า จะทำให้คนไม่มาท่องเที่ยวระยอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งก็ถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เช่น พัทยา ภูเก็ต หัวหิน ปราณบุรี ฯลฯ แต่ก็ไม่กระทบกับการท่องเที่ยว ตรงกันข้าม การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ยังมีผลทำให้เกิดการ “จำกัดมลพิษ” และ “กำจัดมลพิษ” ทำให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นดูแลเรื่องมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวระยะยาว

อ้างว่า จะทำให้ผักผลไม้เมืองระยองขายไม่ออก ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง การประกาศเขตมลพิษเป็นการบอกความจริง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะต้องปกปิดข้อเท็จจริง และปล่อยให้สารพิษแพร่กระจายต่อไปอย่างนั้นหรือ

อ้างว่า จะทำให้การลงทุนอุตสาหกรรมหยุดชะงัก ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ตัวเลขมูลค่าการลงทุนที่หยิบยกขึ้นมาอ้างนั้น เป็นมูลค่าของโครงการ ไม่ใช่มูลค่าผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนในพื้นที่จะได้รับจริงๆ เช่น มูลค่าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ต้องซื้อมาจากต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนที่คนในพื้นที่จะได้รับจริงๆ มีแค่ค่าจ้างงาน ค่าที่ดิน ภาษี(บ้าง) เท่านั้นเอง ผลผลิตก็ขายออกไปนอกพื้นที่ ปล่อยขยะและของเสียทิ้งไว้ในพื้นที่มากขึ้น

ประการสำคัญ หากเป็นผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึก มีพฤติกรรมไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม ดำเนินการลงทุนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีมาตรฐาน โดยไม่ผลักภาระต้นทุนไปปล่อยเป็นมลพิษให้ชาวบ้านอยู่แล้ว ย่อมไม่ได้รับผลกระทบ แต่กลับจะเป็นผลดี เพราะการประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายไม่สามารถเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น โดยผลักภาระต้นทุนออกไปจากตนเองได้อีกต่อไป จึงจะเกิดการแข่งขันกันพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นธรรม

4) ความกล้าหาญของรัฐบาล

วันที่ 16 มี.ค. 2552 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็จะมีการประชุมกันในเรื่องดังกล่าว ว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลทันที หรือจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

จะเชื่อใจได้หรือไม่... รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม “สุวิทย์ คุณกิตติ” ได้ไปออกรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ร่วมกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าตนเองตระหนักถึงภัยทางเคมีของมลพิษมาบตาพุด และยังรับรู้ว่า แม้แต่ละโรงงานจะอ้างว่า ตนเองปล่อยมลพิษในเกณฑ์ตามกฎหมาย แต่การพิจารณาเรื่องนี้ “ไม่ใช่เรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษของโรงงานในแต่ละโรง” แต่เป็นเรื่อง “การควบคุมมลพิษในพื้นที่ที่รวมสะสมกัน” เพราะฉะนั้น จึงต้องดูที่ปริมาณมลพิษที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ปัจจุบันพื้นที่มาบตาพุดอยู่ในระดับอันตรายร้ายแรง

ในวันนี้ (16 มี.ค. 52) เช่นกัน ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากมลพิษมาบตาพุด ทั้งญาติผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย และผู้ได้รับผลกระทบทั้งหลาย จะรวมตัวกันที่ศาลปกครองจังหวัดระยอง ออกเดินเท้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองทันที โดยไม่ควรอุทธรณ์คำสั่งศาล เพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชนโดยทันที ไม่ต้องรอคอยการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด

ตรงกันข้าม การกระทำของผู้ที่ไม่ต้องการให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีพฤติกรรมออกมาให้ข้อมูลหักล้างคำสั่งศาล ข่มขู่ หรือชี้นำในทำนองว่า หากประกาศเขตควบคุมมลพิษตามคำพิพากษาของศาลปกครองจะเกิดความเสียหายร้ายแรงนั้น ก็เป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ อาจเข้าข่ายดูหมิ่น หรือละเมิดอำนาจศาล

และหากมีการขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด การกระทำเหล่านั้นก็น่าจะเข้าข่ายชี้นำ ตีกรอบ กดดันการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ในชั้นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างแท้จริง ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองโดยทันที

หลังจาก 10 ปีที่ถูกฆาตกรรมเงียบกับ 1 ปีครึ่งที่รอคอยคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง


วันนี้ คุณเจริญ เดชคุ้ม ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กล่าวว่า “รอคอยอย่างมีความหวังมาตลอด 10 ปี เพราะเพื่อนในชุมชนต้องจากไปทีละคนสองคนด้วยโรคมะเร็ง อาจจะต่อเนื่องอีกนานเท่าไรก็ไม่จบ รัฐไม่เคยรู้ถึงความรู้สึกของประชาชน ชาวบ้านต้องเจ็บป่วยจากมลพิษจากโรงงาน 1,700 กว่าแห่งในพื้นที่ระยอง สิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเสียหาย"

รัฐบาลจะเห็นตัวเลขการลงทุนและผลประโยชน์ของเจ้าของโรงงาน สำคัญกว่าตัวเลขจำนวนคน-คนป่วย และสำคัญกว่าชีวิตของประชาชนที่ถูกทำลายจากมลพิษที่มากับการลงทุนเหล่านั้น ด้วยการปล่อยให้มีการอุทธรณ์ ทำให้ชาวบ้านต้องรอคอยต่อไป ถูกฆาตกรรมเงียบต่อไป หายใจเอาความตายเข้าไปทุกวินาทีต่อไป อย่างนั้นหรือ?

ต่อลมหายใจให้ชีวิตคนมาบตาพุด ด้วยการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองทันที เถอะครับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น