ศูนย์ข่าวศรีราชา - คนระยองต่างแสดงความดีใจ หลัง “อภิสิทธิ์” ไม่ยื่นอุทธรณ์ พร้อมตอบโต้กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่คนระยอง
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ไม่ยื่นอุทธรณ์การประกาศเขตพื้นที่ตำบลบ้านฉาง พื้นที่ตำบลมาบตาพุด และพื้นที่ข้างเคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ ทั้งๆ ที่มีกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้มาเข้ามากดดันรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ ว่า นิติรัฐ พยายามจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในสังคมไทย
สำหรับชาวบ้านที่ออกมารณรงค์คัดค้านหรือต่อสู้นั้น พบว่า มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมชาวมาบตาพุดและบ้านฉาง 2.สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมอำเภอบ้านฉาง-มาบตาพุด และ 3.ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านบ้านฉาง
ทั้ง 3 กลุ่ม ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของชาวระยอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ได้รับงบสนับสนุนจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และกลุ่มโรงไฟฟ้า สนับสนุนงบประมาณจำนวน 37 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ต้องออกมาปกป้องกลุ่มโรงงานดังกล่าวอย่างแน่นอน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การออกมาชุมนุม ส่วนใหญ่เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง ที่ทำงานในมาบตาพุด ซึ่งเป็นคนอีสานและประเทศเพื่อนบ้าน ประมาณ 1,000 คน โดยจ่ายเงินให้คนละ 200 บาท โดยกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว สร้างความแตกแยกในสังคมเป็น 2 กลุ่ม เนื่องจากมีผลประโยชน์แอบแฝงซึ่งกันและกัน และถือว่าไม่ใช่คนระยอง ทั้งๆ ที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยแต่กลับมาปกป้องกลุ่มนายทุนและทำร้ายประชาชนชาวระยองในขณะนี้
ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ออกมาให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว หรือคัดค้าน มีความเข้าใจข้อกฎหมายหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2525 เป็นเครื่องมือที่จะทำให้การลดและขจัดมลพิษ มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพราะจะได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น-รัฐบาลส่วนกลางและประชาชน เพราะการพูดนั้นเป็นมุมมองความรู้สึก โดยไร้หลักข้อมูลทางวิชาการ ผลการวิจัยที่รองรับ และฐานข้อมูลทางกฎหมายที่แท้จริง
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา การประกาศเขตควบคุมมลพิษ มีประกาศไปแล้ว 19 พื้นที่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น พัทยา หมู่เกาะพีพี หัวหิน ซึ่งการประกาศดังกล่าวไม่เห็นมีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ แม้จะประกาศมานานแล้วก็ตาม แต่กลับเป็นประทับตรา รับรองให้นักท่องเที่ยว ทราบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ขจัดและดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบแบบแผน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวถึงจะถูกต้อง
สำหรับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้กำหนดห้ามหรือไม่ให้มีการลงทุนได้ในพื้นที่ควบคุมมลพิษ แต่อย่างไร ดังนั้น การประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษและการลงทุนไม่มีการขัดแย้งแต่อย่างไร เพียงแต่กลุ่มนายทุนเกิดความกังวล หรือวิตกกังวล ในการเพิ่มเงินลงทุนในการบำบัดและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินแผนงานที่ควบคุมดูแลเลย จึงสร้างความหวั่นเกรงต่องบในการลงทุน
ในความเป็นจริงแล้ว การประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นหลักประกันเป็นเครื่องมือให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิด การจัดทำแผนขจัดมลพิษ โดยท้องถิ่นจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ซึ่งสามารถตรวจเข้าไปตรวจสอบดูแลปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในทันที โดยไม่ต้องขึ้นตรงกับรัฐบาล ที่เป็นผู้กำหนดที่ผ่านมา
ประชาชนชาวระยอง รอความหวัง จนประสบผลสำเร็จ ร่วมระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ศาลได้พินิจและวิเคราะห์ แล้วเห็นว่า พื้นที่มาบตาพุด มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงเรื่องมลพิษจริง จึงมีคำสั่งประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งเห็นได้ว่ามีมลพิษจริง นอกจากนั้นข้อมูลจากศูนย์มะเร็งแห่งชาติ พบว่า พื้นที่ระยอง มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เฉลี่ยมากกว่าการเกิดโรคมะเร็งของระดับประเทศ สูงถึงเกือบ 6 เท่า ซึ่งชี้จัดว่า คนระยองมีภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสูงมากและยังมีคลินิกรักษาโรคภูมิแพ้ หรือโรคเฉพาะทาง เช่น โรคทางเดินหายใจ, หวัดเรื้อรัง เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้ว่าสภาวะทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหา เพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมา สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยมี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยไม่ยอมประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่กลับจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ ซึ่งแผนงานดังกล่าว ได้จัดทำงบไว้ 2 ส่วน โดยในส่วนแรกภาคเอกชนจะต้องลงทุนเอง ซึ่งจากการคำนวณตัวเลข พบว่าต้องใช้งบถึง 20,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย
2.ใช้งบประมาณจากส่วนกลาง (ภาษีของประชาชน) ใช้งบประมาณ 1,060 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และ แผนงานโครงการดูแลสุขภาพให้ประชาชน โดยใช้งบไปหมดแล้ว ซึ่งมองเห็นได้ว่า การนำงบประมาณไปสร้างโรงพยาบาล ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนแต่อย่างไร แต่กลับจะเพิ่มมลพิษขึ้นอีก จนต้องสร้างโรงพยาบาลไว้รองรับ