xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด ทส. ชี้สิ่งแวดล้อมไทยไม่เหมือนต่างชาติ แนะพัฒนา EIA ใช้เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช (ภาพจาก สผ.)
ปลัด ทส. เผยปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ละท้องที่แตกต่างกัน ระบุอีไอเอเป็นเครื่องมือช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน แนะไทยควรวิจัยพัฒนารูปแบบอีไอเอที่เหมาะสมกับประเทศ มากกว่าใช้ของต่างประเทศ รวมทั้งพิจารณาจัดตั้งองค์กรอิสระดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวกับทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สพ.) ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.52 ที่ผ่านมา ว่าประเทศไทยควรจะมีการวิจัยพัฒนาแบบจำลองในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) เพราะที่ผ่านมาเราใช้รูปแบบของต่างประเทศ

ปลัด ทส. กล่าวว่า ในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการดำเนินโครงการใดๆ เพื่อจัดทำเป็นรายงานอีไอเอ สำหรับขออนุญาตดำเนินโครงการนั้น จะต้องอาศัยเทคนิคในการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังใช้เทคนิคของต่างประเทศ ซึ่งอาจมีบางส่วนไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งประเทศไทยควรจะมีการศึกษาวิจัยแบบจำลองที่เหมาะสมกับประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้วิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศเรา อาจเป็นหน่วยงานไหนก็ได้ที่จะดำเนินการวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยอาจให้ สผ. เป็นแกนกลาง

"อีไอเอเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจัดทำ พร้อมกับเสนอมาตรการการแก้ไขในกรณีที่เกิดผลกระทบขึ้นด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของอีไอเอก็จะก่อให้เปิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา" นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งนายศักดิ์สิทธิ์บอกว่า จะต้องผลักดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบ ผู้ประกอบการต้องสื่อสารกับชาวบ้านให้เข้าใจตรงกันแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง

นอกจากนี้อาจต้องพิจารณาถึงการจัดต้ององค์กรอิสระขึ้นเพื่อดูแลเกี่ยวกับอีไอเอโดยเฉพาะว่าควรจะมีหรือไม่ อย่างไร รวมถึงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าควรจะมีการออกกฎหมายใหม่หรือเพิ่มมาตราใหม่เข้าไปในกฎหมายเดิมสำหรับการดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปลัด ทส. ยังเสนอแนะอีกว่าอีไอเอไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ควรแพร่กระจายสู่ท้องถิ่นด้วย โดยให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นมีคณะกรรมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับแต่หน่วยงานท้องถิ่นด้วย ทั้งในเรื่องของงบประมาณ และการติดต่อเชื่อมโยงกับส่วนกลาง รวมไปถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการใช้อีไอเอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอีไอเอจะเป็นเครื่องมือดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพได้ ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น