xs
xsm
sm
md
lg

สหายพันธมิตรฯ สงขลาแถลงการณ์จี้รัฐทบทวนแผน “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ก่อนซ้ำรอย “มาบตาพุด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในพื้นที่ อ.จะนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้าจะนะ ทั้ง 2 แห่ง แม้จะเปิดเดินเครื่องไม่นาน แต่ก็สร้างปัญหาให้แก่ชุมชน ทั้งกลิ่นก๊าซและ เสียง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา ออกแถลงการณ์เรียกร้องสำนึกและจิตวิญญาณของหน่วยงานราชการไทยที่จะดูแล ปกป้อง และเยียวยา คนในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยการประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด รวม 5 ตำบล เป็น “เขตควบคุมมลพิษ” พร้อมทั้งเดินหน้าจี้รัฐบาลทบทวนนโยบายและทิศทางการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดใหม่ หวั่นซ้ำรอยอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษอย่างมากมายเกินกว่าที่จะเยียวยาและควบคุมได้แล้ว

เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ออกแถลงการณ์กรณีศาลปกครองระยองพิพากษาให้พื้นที่มาบตาพุดและบริเวณข้างเคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ ภายหลังจากที่ได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองมาอย่างต่อเนื่อง และกรณีศาลปกครองระยองได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 192/2550 ระหว่างนายเจริญ เดชคุ้ม กับพวกรวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุดและเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุมลดและขจัดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยพิพากษาว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็น “เขตควบคุมมลพิษ”

เครือข่ายฯ เล็งเห็นว่ากรณีกระบวนการต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โดยการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงให้สังคมไทยได้รับรู้ข้อมูลมลพิษที่เกิดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นบทเรียนที่สำคัญต่อสังคมไทยในการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวโดยละเลยการสร้างสุขภาวะของประชาชนและสังคม ละเลยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชน ทางเครือข่ายฯถือว่า กรณีมาบตาพุดเป็นการสร้างบรรทัดฐานการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมไทย

ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องดังนี้ 1.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด รวม 5 ตำบล คือ ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า และ ต.ทับมา รวมทั้งท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็น “เขตควบคุมมลพิษ” โดยทันทีหลังจากมีคำพิพากษา

2.บทบาทหน้าที่หลักของรัฐบาล โดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องควบคุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง และดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษโดยเร่งด่วน เพราะนั่นคือการดูแลปกป้องประชาชนชาวไทย มากกว่าการหวั่นเกรงว่าจะกระทบการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมากลุ่มทุนต่างๆในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้กอบโกยผลประโยชน์ไปอย่างมากมาย แต่ทิ้งปัญหามลพิษให้คนระยองต้องแบกรับ

3.ที่สำคัญรัฐบาลควรทบทวนนโยบายและทิศทางการพัฒนา ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) เพราะเป็นการพัฒนาที่ต้องแลกกับการทำลายวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติ เพราะบทเรียนกรณีตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด) เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษอย่างมากมายเกินกว่าที่จะเยียวยาและควบคุมได้

สุดท้ายทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องสำนึกและจิตวิญญาณของหน่วยงานราชการไทยที่จะดูแล ปกป้อง และเยียวยา คนในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลของสังคมไทย มากกว่าที่จะเอื้อและเห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างๆโดยไม่สนใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาพี่น้องในพื้นที่มาบตาพุดบอบช้ำต่อชะตากรรมจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมามากพอแล้ว

ทางเครือข่ายฯรับรู้ความรู้สึกนั้นได้ดี เพราะในพื้นที่อ.จะนะ จ.สงขลาเป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (TTM) และโรงไฟฟ้าจะนะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพียงสองโรงเท่านั้น และดำเนินการมาเพียงไม่กี่ปี ยังก่อผลกระทบอย่างมากมายต่อชุมชนทั้งด้านมลพิษ เช่น กลิ่นเหม็นของก๊าซที่รั่วออกมาและเสียง การประกอบอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงไก่ฟาร์ม ปลูกผักในบริเวณนั้นได้ ตลอดทำลายย่ำยีความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมกรณีการฮุบที่ดินวะกัฟ แต่พี่น้องในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงกลับต้องทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นมาร่วม 20 ปีจากโรงงานหลายพันโรงในเนื้อที่หลายหมื่นไร่

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแสดงความรับผิดชอบอย่างสง่าผ่าเผย มากกว่าที่จะหาทางหลีกเลี่ยงและซื้อเวลาด้วยการยื่นอุทธรณ์คดี อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรงและขยายวงกว้างจนยากจะควบคุม

สำหรับเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียนั้น ได้เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับนโยบายของรัฐบาลทักษิณ โดยกลุ่มชาวจะนะได้รวมตัวคัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติทรานส์ไทย-มาเลเซีย ด้วยรัฐบาลยุคนั้นไม่ฟังเสียงคนในชุมชนที่ห่วงใยผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต แต่กลับทำทุกวิถีทาง รวมถึงการใช้ความรุนแรงสกัดการต่อต้าน เพียงเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้โดยที่คนในพื้นที่เป็นผู้รับผลกระทบด้านต่างๆ

จนกระทั่งปี2548 เป็นต้นมา ซึ่งมีการเปิดเวทีชุมนุม ณ ลานประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มคัดค้านท่อก๊าซจะนะได้เข้าร่วมอุดมการณ์กับพันธมิตรฯสงขลา “ยิกทักษิณ” และเปิดโปงหน้ากากความชั่วร้ายของระบบทุนสามานย์ที่ทำลายวิถีชีวิตที่ดำเนินอย่างพอเพียงด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมบนคราบน้ำตาของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น