ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ศาลอุทธรณ์ภาค 9 สั่งยกฟ้อง นายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะ ซึ่งตกเป็นจำเลยและพวกรวม 12 คน ในคดีท่อก๊าซ ไทย-มาเลย์ ท่ามกลางความดีใจของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ ประมาณ 50 คนที่เดินทางมาให้กำลังใจ
ศาลจังหวัดสงขลานัดกลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมเหตุการณ์ 20 ธันวาคม บริเวณหน้าโรงแรมเจบี เมื่อคราวจัดประชุมคณะรัฐมนตีสัญจรไม่เป็นทางการสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ (ครั้งที่ 5) และการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งประเทศไทย กับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย ณ โรงแรมเจบี หาดใหญ่
ทั้งนี้ มีพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านและองค์กรนักศึกษา รวม 12 คน ในข้อหา “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธโดยผู้กระทำความผิด เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น, ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้” ซึ่งศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 12 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 แต่ทางพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ได้ยื่นอุทธรณ์คดี
เวลา 09.00 น.วันนี้ (3 มี.ค.) ฝ่ายโจทก์ และ นายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะ ซึ่งตกเป็นจำเลยและพวกรวม 12 คน เดินทางมาศาลจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และ นางสาวรัตนมณี พลกล้า ทนายความ จากสภาทนายความ โดยมีชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย คัดค้านประมาณ 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจ
จนกระทั่งเวลา 09.30 น.นายอเนกชัย อารยะญาณได้ออกนั่งบัลลังก์ห้อง 309 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องนายสุไลมานและพวกรวม 12 คน
คำพิพากษาเห็นว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 44 วรรคหนี่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ” วรรคสองบัญญัติว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก
มาตรา 46 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน”
กฎหมายบัญญัติมาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ และชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ “ตามบทบัญญัติ” จากบทบัญญัติดังกล่าวบุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการพลังงานขนาดใหญ่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น จำเลยทั้งสิบสองและผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการดังกล่าวย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและมีเสรีภาพในการชุมนุมคัดค้านโครงการอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540
อีกทั้งประจักษ์พยานฝ่ายโจทก์ต่างเบิกความแตกต่างกันทุกเหตุการณ์ การชุมนุมเป็นการชุมนุมอย่างสงบ มิได้มีเจตนาเพื่อขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีประชุมนอกสถานที่ หรือต้องการก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าสลายการชุมนุมจึงเป็นเหตุให้เกิดชุลมุนวุ่นวายขึ้น มิใช่ผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายก่อ
นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี หนึ่งในผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดี กล่าวว่า วันนี้เป็นการตอกย้ำสิ่งที่กลุ่มคัดค้านต่อสู้มาร่วมสิบปีว่าพวกเราทำเพื่อปกป้องวิถีชีวิตชุมชน ศาสนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซส่งผลกระทบต่อเราอย่างมา ซึ่งศาลก็ชี้ชัดว่าเป็นสิทธิของเราที่จะปกป้อง
ที่สำคัญ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัท ปตท.และบริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย ทำผิดกฎหมายมาตลอดไม่ว่าจะโกงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกชายทะเล การฮุบที่ดินวะกัฟ (ที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหลักศาสนาอิสลาม) แต่ตำรวจกลับไม่ดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเลือกปฏิบัติมาดำเนินคดียัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับผู้บริสุทธิ์ กลุ่มคัดค้านถูกกระทำและกลั่นแกล้ง ซึ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุม 20 ธันวาคม 2545 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแสดงความรับผิดชอบ โดย พล.ต.อ.สันต์ ศุรุตานนท์ อดีตผบ,ตร.ต้องมาขึ้นศาลในฐานจำเลยแบบเดียวกับพวกตนเช่นกันในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ จะได้รู้ว่าการเป็นจำเลยเป็นเช่นไร