xs
xsm
sm
md
lg

พลังแม้วหวั่นเจอถอดถอน กลับลำไม่คว่ำ2ร่างกม.ลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) ว่าที่ประชุมวิปมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้เสนอ และมีมติให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะนำเข้าที่ประชุมสภา เพื่อแปรญัตติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ส่วนที่ส.ส.พรรคพลังประชาชน มีมติคว่ำก่อนหน้านี้นั้น เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของ ส.ส.บางคนที่คิดกันไปเอง
ทั้งนี้ วิปรัฐบาลเห็นด้วยกับการแปรญัตติของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา กรรมาธิการฯ ที่ขอสงวนความเห็นใน มาตรา 9 ซึ่งให้ยกเลิกความใน มาตรา 23 แห่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้แก่
1. อัยการสูงสุด 2 . คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการปฏิบัติตามมาตรา 11 ว่าด้วยในกรณีประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องให้ดำเนินการต่อป.ป.ช.ตามมาตรา 249 ตามรัฐธรรมนูญว่า ส.ส.1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อตอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ป.ป.ช.ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ ที่ให้ดำเนินการเลือกองค์คณะตามมาตรา 13 โดยมีเหตุผลว่า เพื่อความชัดเจน ในกระบวนการดำเนินคดีต่อป.ป.ช. กรณี ป.ป.ช.ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
3.ให้อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 44/ 10
นอกจากนี้ วิปรัฐบาลมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ..... จำนวน 36 คน
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เห็นชอบให้รับหลักการทั้ง 2 พ.ร.บ. ดังกล่าว ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไปพิจารณาแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังสามารถแก้ไขในชั้นแปรญัตติได้
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา กลุ่ม"เพื่อเนวิน" กล่าวว่า มติดังกล่าวเป็นความคิดเห็นของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ก่อนหน้าเห็นว่ามีที่มาไม่ชอบ เนื่องจากมาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการ เมื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมวิปรัฐบาลแล้ว และมติจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่ที่ประชุมวิปรัฐบาล อาจจะมีเหตุผลที่ต้องการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ผ่านไปก็ได้
ด้านนายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี วิปรัฐบาล จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า พรรคร่วมส่วนใหญ่มีมติให้รับหลักการทั้ง 2 ร่าง พ.ร.บ. แต่โดยในส่วนตัว เห็นว่ากฎหมาย 2 ฉบับนี้ มาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการ แต่สาเหตุที่เห็นชอบ เนื่องจากเกรงว่า บ้านเมืองจะเกิดปัญหา และกลุ่มพันธมิตรฯจะมาต่อต้านอีก หรือหากเลือกได้ ตนคงไม่รับหลักการแน่นอน
ขณะที่ นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคพลังประชาชน ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว ที่เสนอให้นำคดีของนักการเมืองขึ้นศาลเดียว ทั้งๆ ที่ประชาชนทั่วไป หรือโจรฆ่าคนตาย ต่างก็ต้องต่อสู้กันถึง 3 ศาล แล้วทำไมนักการเมืองถึงต้องให้ขึ้นแค่ศาลเดียว



อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่ส.ส.พรรคพลังประชาชน จะมีมติจะคว่ำ ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าวว่า มองไม่เห็นเหตุผลที่จะไม่รับหลักการ ซึ่งเข้าใจว่าทุกพรรคการเมืองต้องรับหลักการ เพราะร่าง กฎหมายศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ได้มีหลักการที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 ขณะที่ร่างกฎหมายศาลฎีกาฯนั้น ตนไม่ทราบเหตุผลว่า ติดขัดเรื่องใด ทั้งนี้ คงต้องขอฟังเหตุผลของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าส.ส.พรรคพลังประชาชน จะใช้เวทีตรงนี้เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อองค์กรอิสระ หรือตุลาการ ก็แสดงให้เห็นว่า พรรคนี้เป็นปฏิปักษ์ และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพรรคพวก และจะเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนต่อการเมืองและรัฐบาล อีกทั้งยังทำให้ศาลทำงานยาก เพราะไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายเก่า หรือใหม่ตัดสินคดีต่างๆ ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นผลดีกับรัฐบาล และเชื่อว่าความขัดแย้งของประชาชน ก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้นตนอยากเชิญชวนให้ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนปวงชน ผ่านกฎหมายที่มีความจำเป็นออกมา อย่าทำตัวเป็นผู้แทนของคนอื่น
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนรู้สึกแปลกใจมาก ที่ส.ส.พลังประชาชนคิดจะคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสอง เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด ว่าต้องมีระยะเวลาจัดทำให้เสร็จ โดยเฉพาะกฎหมายศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ในวาระที่ 1 ที่มีการรับหลักการด้วยเสียงเอกฉันท์ไปแล้ว
นายสาทิตย์ กล่าวว่า การที่พรรคพลังประชาชนคิดจะคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าใจว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะหนีหมายศาล ซึ่งการมีมติโหวตไม่รับร่าง จะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับจะไม่สามารถเสนอกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันเข้ามาได้อีกในสมัยประชุมนี้ และจะเสนอได้อีกครั้งในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้ และจะทำให้การพิจารณาคดีที่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ต้องสะดุดและติดขัด
"ผมพยายามดูเหตุผลว่า เหตุใดพรรคพลังประชาชนจะไม่รับหลักการ เท่าที่ทราบเหตุผลคือ ถ้ากฎหมายที่รัฐบาลเสนอแล้วไม่รับ ต้องลาออก แล้วองค์กรอิสระ จะลาออกหรือไม่ ซึ่งผมดูแล้วเป็นเหตุผลที่ไม่ชอบธรรม เพราะกฎหมายดังกล่าวใช้คนละหลักกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่รับผิดชอบโดยรัฐบาล ผมกังวลว่า นี่คือการใช้เหตุผลส่วนตัว แก้แค้นองค์กรอิสระ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และผมคิดว่ากำลังจะสร้างแรงกดดันใช้อำนาจต่อรององค์กรอิสระหรือไม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลเกิดปัญหามากมาย ทั้งการถูกร้องต่อ ป.ป.ช. และเรื่องการยุบพรรคจาก กกต. ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่าย หรือหมิ่นเหม่ที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต้องดูพฤติกรรมของรัฐบาลต่อไป" นายสาทิตย์ กล่าว และ ว่าการที่พรรคนี้อ้างว่า องค์กรอิสระมากจากรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบ ก็ขอย้อนถามว่า ตัวเองที่เป็น ส.ส.รวมทั้งรัฐบาล ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบ ทำไมไม่ลาออกไป แต่กลับมาใช้อำนาจจากรัฐ ธรรมนูญปี 50
กำลังโหลดความคิดเห็น