xs
xsm
sm
md
lg

“จรวยพร” ชงแก้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน เล็งแก้อาชีวะสอนได้ถึง ป.ตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรายพร ธรณินทร์
ปลัด ศธ.ชงแก้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน หลังพบหลายมาตราก่อปัญหาในการบริหารงาน ระบุ ต่อไปหากจะออกกฎระเบียบ สช.ต้องเชิญผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเข้าด้วย ชี้ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ก็อาจจะต้องปรับแก้ เพื่อให้โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนสามารถเปิดสอนได้ถึงระดับ ป.ตรี ได้ด้วย


ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าในการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 หลังมีผลใช้บังคับ แต่ส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เตรียมนำประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาจากการนำ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนไปใช้ ซึ่งพบว่า มีปัญหาทั้งสิ้น จำนวน 11 มาตรการ เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี ศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขอแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ทั้ง 11 มาตรา อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การออกกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนมีปัญหาในการไปบังคับใช้อีก คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) จึงมีมติให้ สช.ต้องเชิญผู้แทนโรงเรียนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาออกกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหรือข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือกฎหมายลูกอีก 44 ฉบับ

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ตามมาตรา 44, 45 และ 49 ใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดให้ สช.มีกองทุนสำรองเพื่อส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบ ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ และมาตรา 54 กำหนดให้มีกองทุนสงเคราะห์มีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้น สช.จึงต้องมีจัดโครงสร้างการบริหารภายในและบุคลากรใหม่ เพื่อรองรับกองทุนดังกล่าว โดยในส่วนของกองทุนสงเคราะห์จะมีการโอนบุคลากรจากกองทุนและสวัสดิการซึ่งเป็นกองทุนเดิมของ สช. จำนวน 5 คนไปทำงานให้กับกองทุนสงเคราะห์ โดยมี นายสำรวม พฤกษ์เสถียร เลขาธิการ สช.คนปัจจุบัน เป็นว่าที่ ผอ.กองทุน ส่วนข้าราชการที่โอนไปจะมีสถานภาพอะไรนั้นจะต้องมีการพิจารณารายละเอียดกันต่อไป สำหรับข้าราชการที่เหลือในกองทุนและสวัสดิการอีก 29 คนนั้น จะโอนไปทำงานกับกองทุนสำรองเพื่อส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบ

ดร.จรวยพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนเห็นว่าในส่วนของอาชีวศึกษาเอกชนก็อาจจะมีปัญหา เนื่องจากต้องใช้ พ.ร.บ.2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา 2551 ดังนั้น ตนจะเชิญผู้บริหารโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนมาจัดทำเวิร์คชอปร่วมกันว่าจะมีการบริหารจัดการกันอย่างไร ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาเปิดโอกาสให้สถาบันอาชีวศึกษาของรัฐสามารถที่จะเปิดสอนได้ถึงปริญญาตรี ซึ่งตามกฏหมายแล้วก็ควรจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนสามารถเปิดสอนถึงปริญญาตรีได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อการแข่งขันระหว่างภาครัฐและเอกชน

กำลังโหลดความคิดเห็น