กฤษฎีกาตีความ 26 คำสั่งแต่งตั้งแล้ว แนะ ก.ตร.แก้ปัญหา 2 แนวทาง คือ เพิ่มตำแหน่งตามเดิม แต่ต้องออกกฏกระทรวงเพื่อทำให้ถูกกฎหมาย หรือ กำหนดตำแหน่งประจำใหม่ โดยบรรจุในวาระการประชุมเพื่อพิจารณาพุธหน้า
วันที่ (2 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ ตช 0039.21/4578 ลงวันที่ 20 พ.ค.2551 และหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตช 0039.21/5150 ลงวันที่ 2 มิ.ย.2551 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการลงมา เป็นฝ่ายต่างๆ แทนกองกำกับการในกองบังคับการตำรวจทางหลวง กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการทะเบียน กองบังคับการปราบปราม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ซึ่งสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในปัญหา 26 คำสั่ง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2551 แต่เนื่องจากการแต่งตั้งดังกล่าว ได้ดำเนินการไปโดยยังไม่มีการแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติราชการ
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอเรื่องต่อ ก.ตร.และ ก.ตร.ได้มีมติให้อนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบพิจารณา ซึ่งมีมติตำแหน่งที่กำหนดขึ้นเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ในกองบังคับการเป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถแต่งตั้งได้ตามกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการกำหนดตำแหน่งให้เป็นที่เรียบร้อยครบถ้วนเสียก่อน ดังนั้นการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามีความเห็นดังนี้
1.การกำหนดตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ก.ตร.จึงสามารถกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติม จากตำแหน่งในแต่ละหน่วยงาน หรือส่วนราชการทีกำหนดไว้เดิม ในลักษณะเป็นกลุ่มตำแหน่งประจำ หน่วยงานหรือส่วนราชการได้ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ส่วนการกำหนดตำแหน่งให้มีผลย้อนหลังนั้นสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อให้งานของราชการตำรวจสามารถดำเนินการต่อไปได้ และเป็นการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น อีกทั้ง ก.พ.ก็เคยมีมติอนุมัติ กำหนดตำแหน่งในลักษณะนี้มาก่อนเช่นกัน
2.การแต่งตั้ง ก.ตร.สามารถอนุมัติให้ ผบ.ตร.มีอำนาจพิจารณา การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกองบังคับการต่างๆ ได้ เป็นกรณีพิเศษตามนัยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เห็นควรให้ความเห็นชอบ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ ครม.ขออนุมัติยกเว้นให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีผลย้อนหลังไปในวันที่ 1 ก.พ.2551 เพื่อให้งานของตำรวจที่ดำเนินการไปในระหว่างนั้นไม่ให้เกิดความเสียหาย และสามารถดำเนินการต่อไปได้
ทางกฤษฎีกาได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2551 โดยทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 โดย นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในข้อพิจารณาหารือว่า ตามาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ได้บัญญัติให้ ก.ตร.มีอำนาจกำหนดจำนวน ข้าราชการตำรวจในส่วนราชการต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้คำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบปริมาณและคุณภาพของงาน รวมทั้งความมีประสิทธิภาพ และการประหยัด ดังนั้น หาก ก.ตร.เห็นว่า การกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติม จากตำแหน่งในแต่ละหน่วยงาน หรือส่วนราชการที่ได้กำหนดไว้เดิม ในลักษณะเป็นกลุ่มตำแหน่งประจำ หน่วยงานหรือส่วนราชการ ก.ตร.ก็สามารถกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมในหน่วยงานหรือส่วนราชการได้ แต่อย่างไรก็ดีโดยที่การแบ่งส่วนราชการตามที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ที่ได้ออกโดยอาศัยตามความในมาตรา 10 วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ได้มีการกำหนดรายละเอียด ของส่วนราชการภายในกองบังคับการ รวมทั้งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการภายในกองบังคับการนั้นไว้ด้วย ดังนั้น การที่ ก.ตร.จะดำเนินการกำหนดให้มีกลุ่มตำแหน่งประจำหน่วยงาน หรือส่วนราชการเพิ่มเติม จากหน่วยงานหรือส่วนราชการเดิม จึงมีเป็นการแบ่งส่วนราชการภายในขึ้นใหม่ ซึ่งต้องมีการดำเนินการแก้ไข เพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 เพื่อกำหนดให้มีกลุ่มตำแหน่งประจำหน่วยงานหรือส่วนราชการเสียก่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงจะมีส่วนราชการที่จะสามารถแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ในกลุ่มตำแหน่งประจำหน่วยงานหรือส่วนราชการได้ และในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจนั้น เมื่อในกรณีนี้ ก.ตร.ได้มีมติอนุมัติ ให้กำหนดตำแหน่ง ของข้าราชการตำรวจไว้แล้ว ด้วยเหตุนี้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ จึงต้องกำหนดให้กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง ไปก่อนวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่เป็นปัญหาดังกล่าว
ส่วนการที่ ก.ตร.จะอนุมัติให้ ผบ.ตร.มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่เป็นปัญหา เพื่อไปดำรงตำแหน่ง ในกลุ่มตำแหน่งประจำหน่วยงานหรือส่วนราชการ โดยถือว่าเป็นเหตุพิเศษตามนัยมาตรา56 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 นั้นเห็นว่า ในกรณีนี้หาก ก.ตร.เห็นว่า การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ข้าราชการตำรวจที่เกิดขึ้น ในกองบังคับการต่างๆ เป็นเหตุพิเศษสมควรที่จะกำหนด ให้ ผบ.ตร. มีอำนาจในการแต่งตั้งตามมาตรา 44(5) ลงมาย่อมอยู่ในอำนาจของ ก.ตร.ที่จะอนุมัติ และให้มีผลย้อนหลังไปในวันที่ 1 ก.พ.2551 ย่อมสามารถทำได้ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่ามีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในทางราชการ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็สามารถดำเนินการขออนุมัติต่อ ครม.ต่อไปได้
สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับงบประมาณที่ได้จ่ายให้แก่ข้าราชการตำรวจ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการตำรวจดังกล่าว ได้รับไว้แล้วนั้น หากได้แก้ไขปัญหาโดยมีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจโดยมีผลย้อนหลังแล้ว ปัญหาที่เกี่ยวกับงบประมาณ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ย่อมหมดไป
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 9 ก.ค. โดย พล.ต.ท.บรรจง ตันศยานนท์ ผบช.ก.ตร.ได้บรรจุวาระการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ หรือ 26 คำสั่งเป็นวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว