กาญจนบุรี - พูดถึง “นิล” อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี แล้วในอดีตคนส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก “นิล” แต่ถ้าบอกว่า หินสีดำทุกคนอาจจะทราบดีว่า มันก็คือหินทั่วๆ ไป นั่นเอง ความที่เป็นหินที่ไร้ค่าในต้อนนั้น จึงไม่มีใครที่จะคิดค้นนำหินสีดำก้อนนี้มาทำให้มีค่าได้ สุดท้ายหินสีดำก็มีค่า
กิมไน้ สิริพฤกษา ราชินีอัญมณีสีดำ ประธานศูนย์ฝึกวิชาชีพการเจียระไนนิล จังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าของร้านของฝากของที่ระลึก “อนันตพลพลอยกาญจน์” ผู้นี้ คือ ผู้ที่ริเริ่มการนำหินสีดำที่ไร้ค่าให้มีค่าและเป็นที่รู้จักมากขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
คุณกิมไน้ สิริพฤกษา เปิดเผยเกี่ยวกับอัญมณีนิล ว่า เป็นหินสีดำที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับอัญมณีสีน้ำเงินหรือพลอยไพลินที่เลอค่าและสร้างชื่อเสียงให้อำเภอบ่อพลอย และจังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นที่รู้จักโด่งดังได้ทุกวันนี้
คุณกิมไน้ เล่าต่อว่า สมัยก่อนการทำพลอยของอำเภอบ่อพลอย ไม่ได้ใช้เครื่องมือหนักในการขุดอย่างเช่นปัจจุบัน การขุดพลอยในอดีตเขาจะใช้มือขุดหลุมให้ลึกลงไปในดินประมาณ 10-20 เมตร เมื่อถึงบริเวณที่คิดว่า เป็นสายแร่คนที่ลงไปขุดหาพลอยก็จะตักหินใส่กระป๋องแล้วดึงขึ้นมาข้างบนปากบ่อ
หลังจากนั้น ก็นำหินดังกล่าวมาร่อนกับน้ำเพื่อทำการคัดเลือกพลอย การขุดหาพลอยของชาวบ้านในแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความยากลำบากขุดขึ้นมาบางครั้งก็ไม่พบพลอยพบแต่หินสีดำเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หินสีดำที่อำเภอบ่อพลอยเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เมื่อหินสีดำเพิ่มมากขึ้นชาวบ้านและเหมืองก็ไม่รู้จะนำหินสีดำไปทำอะไร สุดท้ายก็นำหินสีดำ “นิล” ไปถมถนนเพื่อทำเป็นทางเข้าหมู่บ้านบ้างก็นำนิลไปผสมปูนเพื่อทำการก่อสร้างต่างๆ ทำอย่างไรนิลก็ยังไม่มีค่า
คุณกิมไน้ สิริพฤกษา กล่าวต่อว่า ด้วยความที่ครอบครัวตนเป็นครอบครัวที่ยากจนหาเช้ากินค่ำบางวันก็ไม่มีจะกิน ด้วยความที่สงสารพ่อแม่ตนในฐานะพี่คนโตจึงต้องลาออกจากโรงเรียนแล้วมาทำงานเลี้ยงครอบครัวโดยไปฝึกเป็นช่างเจียระไนพลอยอยู่ที่เหมืองพลอยแห่งหนึ่งในอำเภอบ่อพลอย จนกระทั่งชำนาญและเริ่มเก่ง ตนจึงไปรับจ้างเจียรพลอยรายได้เริ่มดีขึ้น ตนก็นำเงินที่เก็บไว้ส่วนหนึ่งไปซื้อเครื่องมือเจียรพลอยมือ 2 มา เครื่องหนึ่ง ตนจึงออกจากที่ทำงานแล้วรับพลอยมาทำที่บ้าน
ในขณะที่ทำการเจียรพลอยอยู่ที่บ้านตนก็นึกถึง “นิล” ขึ้นมาทันทีว่า “นิล” น่าจะมีค่ามากกว่าหินถมถนน ตนจึงลองนำหินสีดำ หรือ “นิล” ไปเจียระไนให้เหมือนกับพลอยดู ก็ปรากฏว่า เหลี่ยมของอัญมณีนิลไม่ต่างจากอัญมณีพลอยเลยมีเพียงแค่สีของนิล เป็นสีดำสนิทส่วนพลอยจะใสเท่านั้นเองอย่างอื่นเหมือนกันหมด หลังจากทำการทดลองเจียรเป็นที่เรียบร้อยตนก็นำนิลมาเจียนแทนพลอยและทำการออกมาอัญมณีนิลเป็นรูปพรรณต่างๆ และได้ทดลองนำออกมาว่างจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่อำเภอบ่อพลอย การวางจำหน่ายอัญมณีนิลของตนในตอนนั้นนักท่องเที่ยวต่างชอบและหาซื้อเก็บไปเป็นของที่ระลึกและของฝากให้กับคนที่รักจนทำให้ผลิตภัณฑ์นิลที่ทำไว้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวบางคนถึงกับสั่งจองนิลในรูปแบบที่ตัวเองต้องการไม่ว่าจะเป็นแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู อย่างนี้เป็นต้นคนแล้วคนเล่า
คุณกิมไน้ กล่าวต่อว่า ในช่วงนั้นช่างเจียระไน ใน อ.บ่อพลอย มีน้อยมาก เมื่อมีช่างน้อยตนจึงได้เปิดศูนย์ฝึกวิชาชีพการเจียระไนนิล จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นที่บ้านเลขที่ 284/31 ถนนแสงชูโต ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีขึ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน “อนันตพลพลอยกาญจน์” ในปัจจุบัน ศูนย์ที่เราได้ทำการเปิดเปิดสอนก็ประมาณ 25-30 คนในแต่ละรุ่น คนที่มาเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกินอยู่ฟรีทุกคน
ผลิตภัณฑ์นิลของคุณกิมไน้ และที่ร้านอนันตพลพลอยกาญจน์ จึงถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยนิลแท้ทั้งสิ้น ดูได้จากนิลจะต้องดำสนิทและเมื่อเจียระไนก็จะเป็นแวววาวสวยงาม ส่วนเรื่องความปราณีตไม่ต้องพูดถึงยิ่งเรื่องของราคาแล้วรับรองได้เลยว่า ไม่แพง
จากผลงานอันประณีตของผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ของ คุณกิมไน้ สิริพฤกษา ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากนิลสีดำของคุณกิมไน้ได้รับรางวัลให้เป็นสินค้าป้ายทองระดับ 5 ดาว PRODUCT CHAMPION ของจังหวัดกาญจนบุรี และสินค้าของคุณกิมไน้ยังถือเป็นสินค้าหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบลบ้านเหนือ และได้ถูกคัดสรรคัดเลือกคัดสรรให้เป็นสินค้าที่ไปจำหน่ายในงาน APEC และล่าสุด ได้นำผลิตภัณฑ์นิลไปจำหน่ายในงาน OTOP CITY ที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร