แพร่ – กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา ยกทีมลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงโรงงานก๋วยเตี๋ยวส่งออกแพร่ พบสร้างก่อนได้รับอนุญาต แถมยังไม่ทำประชาพิจารณ์ สั่งชะลองานก่อสร้างทั้งหมดก่อน พร้อมกลับไปทำตามขั้นตอนกฎหมายใหม่ หลังถูกชาวบ้านรุมต้านต่อเนื่องหลายครั้ง
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า วันนี้ (13 ต.ค.) กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา จำนวน 6 คน พร้อมด้วยอนุกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 25 คน นำโดย นายบุญส่ง โควาวิสารัช รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจพื้นที่สร้างโรงงานก๋วยเตี๋ยวของบริษัท เอเชียไลด์ จำกัด ร่วมกับนายพงษ์ศักดิ์ พลายเวช ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ หลังได้รับการร้องเรียนจากชุมชน ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ที่ออกมาคัดค้านการสร้างโรงงานอย่างต่อเนื่อง
โดยอ้างว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานที่สร้างมลภาวะขึ้นในชุมชน และการก่อสร้างไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และไม่มีการทำประชาพิจารณ์
ขณะที่คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวมาถึงที่บริเวณถนนสายช่อแฮ-ทุ่งโฮ้ง บริเวณใกล้กับจุดสร้างโรงงาน มีชาวบ้านตำบลส่วนเขื่อนจำนวน 500 คน นำโดยนายสำราญ เขื่อนแก้ว ผู้นำในชุมชนสวนเขื่อน รวมตัวกันออกมาแสดงเจตนารมณ์ ต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวในความต้องการที่จะมีวิถีชีวิตในชุมชนที่สะอาดปลอดภัย และเป็นชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ ไม่ต้องการโรงงานเข้ามาตั้งติดกับชุมชน เพราะจะกระทบต่อชุมชนในอนาคตทั้งอากาศ-ลำห้วย ที่เป็นพื้นที่เขตต้นน้ำของจังหวัดแพร่ และลำห้วยแม่แคมใน ต.สวนเขื่อน ยังเป็นสายเลือดสำคัญของแม่น้ำยมอีกด้วย
คณะกรรมาธิการได้ขอไม่ให้ชาวบ้านติดตามไปถึงโรงงาน เพราะเกรงว่าจะมีการประทะกับกลุ่มคนที่โรงงานจัดเข้ามาปิดปากทางเข้าโรงงานกว่า 200 คนซึ่งมาจากหมู่บ้านอื่นใน อ.เมืองแพร่ ซึ่งนายสำราญ เขื่อนแก้ว เห็นด้วย จึงนำชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมเดินทางไปรวมตัวอยู่ที่สนามกีฬาประจำหมู่บ้านแทน
ขณะที่ปากทางเข้าโรงงานมีประชาชน ที่เจ้าของโรงงานจัดมาต้อนรับกรรมาธิการจำนวนกว่า 200 คน ได้ติดป้ายต้องการให้โรงงานเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานขึ้นในชุมชน โดยมีการปราศรัยโจมตีกลุ่มต่อต้านสร้างโรงงานอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางเข้าสู่โรงงานก๋วนเตี๋ยวของกรรมาธิการชุดดังกล่าวมีนายทวีศักดิ์ ล้อบุณยารักษ์ เจ้าของโรงงานก๋วยเตี๋ยวเอเชียไลด์ จำกัด, นายศุรวีร์ รัตนไชย ที่ปรึกษาการค้าดำเนินกิจการ และ นายยศธร ล้อบุณยารักษ์ ผู้จัดการโรงงาน ให้การต้อนรับและมีการสนทนาพร้อมทั้งพาเดินดูการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งมีการพูดคุยถึงประเด็นการสร้างโรงงานโดยยังไม่ดำเนินการขออนุญาต ทำให้ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ฝ่ายโรงงานก๋วยเตี๋ยว ยืนยันว่า โรงงานของตนออกแบบอย่างถูกต้องทุกประการ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เชิญเข้าร่วมประชุมต่อ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดแพร่ เพื่อหาข้อยุติ
นายทวีศักดิ์ ล้อบุณยารักษ์ เจ้าของโรงงานได้กล่าวกับกรรมาธิการว่า โรงงานของตนสร้างด้วยระบบมาตรฐานไม่มีปัญหาใดใดต่อสิ่งแวดล้อม สามารถไปดูโรงงานเก่าได้ที่ริมแม่น้ำยม บ้านสุพรรณ ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการกำจัดของเสียอย่างได้มาตรฐานทุกขั้นตอน ซึ่งโรงงานแห่งใหม่ก็จะมีการจัดประชาพิจารณ์ในเร็วๆ นี้
นายบุญส่ง โควาวิสารัช หัวหน้าคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ว่า มีการขอสร้างโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการสร้างโรงงานก๋วยเตี๋ยวโดยทางเจ้าของโรงงานพยายามชี้แจงกับชาวบ้านว่าเป็นโรงงานกล่องกระดาษ แต่จริงๆ เป็นโรงงานก๋วยเตี๋ยว
ในเรื่องนี้จะต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย คณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมได้มาดูว่ามีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่าชาวบ้านเดือดร้อนขอให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง เพราะการขออนุญาตถูกต้องต้องผ่านการศึกษาผลกระทบและความเห็นของชุมชนเสียก่อน
ส่วนการเจรจาที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดแพร่ ระหว่างฝ่ายราชการประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ ฝ่ายโรงงานได้แก่นายทวีศักดิ์ ล้อบุณยารักษ์ เจ้าของโรงงาน และคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา-อนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ที่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง พบว่า โรงงานสร้างโรงงานโดยพลการ ยังไม่มีการขออนุญาตแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำประชาพิจารณ์ จนส่งผลให้มีการออกมาประท้วงของเจ้าของชุมชน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงงานได้ทำการลงทุนไปเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อความเป็นธรรมจึงไม่มีการระงับหรือดำเนินคดี แต่ให้โรงงานและจังหวัดแพร่ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสียก่อน และลงทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดความเข้าใจ จากนั้นจะมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ว่า ชุมชนต้องการหรือไม่ต้องการโรงงานดังกล่าว แต่ถ้าผลออกมาไม่ต้องการให้มีโรงงาน ทางโรงงานก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทางอำเภอเมืองแพร่ได้มีการนัดทำประชาพิจารณ์แล้ว ในวันที่ 19 และ 26 ตุลาคม 2551 นี้