xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสั่งเทศบาลเมืองอุบลฯคืนฟุตปาททางเท้า-ต้นไม้ให้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี- หลังชุมชนในเทศบาลนครอุบลราชธานี รวมตัวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเพิกถอนโครงการขยายผิวการจราจร ซึ่งต้องมีการตัดต้นไม้ และรื้อฟุตปาททางเท้าตามถนนในตัวเมืองรวม 55 สาย เพราะได้รับผลกระทบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้เทศบาลแพ้คดี โดยให้คืนพื้นผิวที่เป็นฟุตปาธและต้นไม้เดิมให้กับชุมชน ส่วนเอกชนที่ถูกการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ให้จ่ายเงินชดเชยด้วย


ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณา 1 ศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา นายศรศักดิ นิยมธรรม นางดุษณีย์ ตยางคานนท์ ตุลาการศาลปกครอง อ่านคำพิพากษาเรื่องละเมิดทางเท้า ขยายผิวจราจรรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน คดีหมายเลขดำ ที่ 170, 184, 203/2549 คดีหมายเลขแดง 240-242/2551 มี นางอรวรรณ ศิรินทร์วงศ์ ผู้ฟ้องที่ 1 พร้อมพวกรวม 51 คน เป็นผู้ฟ้อง และเทศบาลนครอุบลราชธานี เป็นผู้ถูกฟ้อง โดยทางเทศบาลส่งเจ้าหน้าที่นิติกรมารับฟังคำพิพากษา

สำหรับคดีนี้ เป็นการคัดค้านโครงการปรับปรุงก่อสร้างขยายผิวการจราจรสองข้างถนน ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยกลุ่มประชาชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ไม่เห็นด้วยที่การก่อสร้างต้องมีการตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมฟุตปาธทั้งหมด เพื่อรื้อฟุตปาธสองข้างถนนให้เป็นพื้นผิวจราจร กระทั่งต่อมาภาคประชาชน ได้นำเรื่องส่งฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ก่อนจะมีคำพิพากษาในวันนี้

คำพิพากษาระบุว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องอ้างไว้ในคำให้การเพิ่มเติมว่า การที่ผู้ถูกฟ้องได้ขยายผิวจราจรในส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 1-7 ต้องถอยร่น เป็นเรื่องการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สิน อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม ผู้ถูกฟ้องมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ขยายผิวจราจรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้อง

แต่อ้างเพียงว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตกอยู่ในแนวถอยร่นอาคาร ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะต้องพิจารณาข้ออ้างนี้

ดังนั้น ศาลจึงมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจัดให้มีทางเท้าตามเดิม ในถนนที่มีการขยายผิวจราจรทุกสายที่เคยมีทางเท้าอยู่เดิม โดยพิจารณาความกว้างของทางเดินเท้ารวมทั้งการปลูกต้นไม้บนทางเท้าดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ประโยชน์ของชุมชน และขนาดของถนนแต่ละโครงการซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอยร่นผิวจราจรของถนนนครบาล และถนนสุริยาตร์ในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และปรับสภาพที่ดินของผู้ฟ้องคดี ในส่วนที่ถูกรุกล้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีการขุดเจาะขยายผิวจราจรในบริเวณนี้

หากไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีการดังกล่าวได้ ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ราคาที่ดินในส่วนที่ถูกรุกล้ำเป็นสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 34,200 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงิน 810,400 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 2, 4, 5, 6 และ 7 เป็นเงินคนละ 144,000 บาท รวมเป็นเงิน 1.4 ล้านบาทเศษ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่มีการจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินในส่วนที่ถูกรุกล้ำให้เป็นทางสาธารณะ ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษา และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

สำหรับคดีนี้ เป็นการคัดค้านโครงการปรับปรุงก่อสร้างขยายผิวการจราจรสองข้างถนน ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ในช่วงเดือน พ.ค.2549 โดยกลุ่มประชาชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ไม่เห็นด้วยที่การก่อสร้างต้องมีการตัดต้นไม้ ที่ขึ้นอยู่ริมฟุตปาธทั้งหมด เพื่อรื้อฟุตปาธสองข้างถนนให้เป็นพื้นผิวจราจร ทำให้ชาวเมืองไม่มีทางเท้าเดิน โดยทางเทศบาลระบุว่ามีถนนที่ต้องถูกตัดต้นไม้และรื้อฟุตปาธทิ้งรวม 55 สาย ใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 97 ล้านบาท

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการต่อต้านคัดค้านขยายตัวเป็นวงกว้างทุกชุมชน เพราะผู้อยู่อาศัยเกรงผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงาหลบแดด ไม่มีฟุตปาททางเท้าให้ลูกหลานวิ่งเล่น ใช้เป็นทางเดินไปโรงเรียน รวมทั้งอันตรายที่อาจถูกรถเฉี่ยวชนขณะเดินอยู่บนถนน และเมื่อนักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกมาตีแผ่ความไม่เหมาะของโครงการ ที่ผิดลักษณะด้านวิศวกรรมโยธาก่อสร้าง

ทำให้ภาคประชาชนทั้งนักกิจกรรม ทนายความ แพทย์ นักวิชาการ และผู้เสียหายจากการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในตัวอาคารที่พักอาศัย นำเรื่องส่งฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมาเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2549 และศาลได้รับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2549 พร้อมสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราว

โดยให้เทศบาลยุติการรื้อและขยายผิวจราจร จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และศาลปกครองนครราชสีมาได้สั่งให้เทศบาลนครอุบลราชธานีแพ้คดีในที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น